ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Thursday August 20, 2009 14:21 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวลดลงอีกเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ ที่ผ่านมาเนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝนทำให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคสัตว์น้ำตามธรรมชาติมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง ส่วนราคาลูกสุกรยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง แสดงว่าความต้องการเลี้ยงยังมีอยู่มาก แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 56.73 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 57.01 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.49 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 54.68 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 54.18 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 58.36 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 61.72 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,600 บาท (บวกลบ 58) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 56.50 บาท และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 66.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดไก่เนื้อในสัปดาห์นี้ ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะภาคกลางซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงใหญ่ราคาได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก เพราะผลผลิตออกสู่ตลาดเริ่มลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการได้ปรับลดปริมาณการผลิตให้สมดุลกับความต้องการบริโภค แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือปรับตัวสูงขึ้น

ผลจากการประชุมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2552 ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในกรณีที่สหภาพยุโรป (EU)แจ้งต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อขอขึ้นภาษีสินค้าสัตว์ปีกแปรรูป 8 รายการ สรุปได้ว่าจะต้องมีการตั้งคณะทำงานประสานงานกันเรื่อง กรอบการเจรจาขอชดเชยการปรับเปลี่ยนตารางข้อผูกพันในสินค้าไก่ 6 พิกัด เพื่อกำหนดกรอบแนวทางเจรจา เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก่อนเข้าสู่ ครม. และการพิจารณาของรัฐสภา ตาม มาตรา 190 ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะต้องดำเนินการให้ทันในวันที่ 14 กันยายน 2552 นี้ โดยไทยจะยื่นขอเจรจา เพื่อชดเชยความเสียหายไก่ 6 รายการ จาก 8 รายการเพราะเป็นสินค้าที่มีส่วนแบ่งการตลาดไป EU มากซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการปรับภาษี

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 39.58 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 39.08 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.28 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 40.52 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 38.56 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 39.98 บาท และภาคใต้ไม่มีรายงานในสัปดาห์นี้ ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 14.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 38.50 บาท และราคาขายส่งไก่สดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 48.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) มีมติให้ปรับลดไก่ไข่พันธุ์ และปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงออกก่อนเพื่อลดปริมาณผลผลิต เมื่อช่วงปลายปี 51 ต่อเนื่องถึงต้นปี 52 ทำให้ปริมาณผลผลิตไข่ไก่และลูกไก่ไข่ลดลง ส่งผลให้ราคาไข่ไก่และลูกไก่ไข่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 เป็นต้นมา

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 ภาครัฐโดยกรมการค้าภายใน ได้ประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางบรรเทาภาวะความเดือดร้อนของทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ และประชาชนผู้บริโภค โดยขอความร่วมมือผู้ผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูปปรับลดราคาลงให้สอดคล้องกับราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับลดลง เพื่อลดภาระด้านต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ และขอความร่วมมือผู้เลี้ยงไก่ไข่ตรึงราคาไข่ไก่คละไว้ที่ระดับฟองละ 2.50 — 2.60 บาท เป็นระยะเวลา 1-2 เดือน แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัว

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 259 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 263 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 267 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 257 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 259 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 27.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 285 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 288 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 285 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.05 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ ร้อยฟองละ 257 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 305 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 275 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 335 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 350 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 43.23 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 45.48 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 35.81 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 46.77 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 53.60 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 34.45 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 47.00 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 31.94 บาท ภาคกลางและภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ ข่าวสัปดาห์ 10 - 16 สิงหาคม 2552--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ