เกษตรกรชื่นมื่น ขอสานต่อโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมัน

ข่าวทั่วไป Monday August 31, 2009 13:29 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. เดินสาย 6 จังหวัด ในภาคตะวันออก และภาคใต้ สำรวจโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมัน พบเกษตรกรส่วนใหญ่พึงพอใจในระดับมากที่สุด และอยากให้สานต่อโครงการอย่างต่อเนื่อง แนะเพิ่มความรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดเขตการค้าเสรี เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและปรับตัว

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมัน ซึ่งดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการเกษตร มีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรทำหน้าที่ติดตามและประเมินผลโครงการฯ เพื่อพัฒนาการผลิตของเกษตรกร เป็นการเตรียมความพร้อมแก่ภาคการผลิต สำหรับรองรับผลกระทบจากข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าที่จะมีขึ้นในอนาคต โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่ม ขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัด เป็นผู้ดำเนินการจัดฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ใน 2 หลักสูตร แบ่งเป็นหลักสูตรการปลูกสร้างสวนปาล์มน้ำมันให้แก่เกษตรกร รายใหม่ และหลักสูตรการปฏิบัติดูแลรักษาสวนปาล์มให้แก่เกษตรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันอยู่เดิม ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยศูนย์ประเมินผล ได้ลงพื้นที่ดำเนินการติดตามผลโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมัน ปี 2552 ใน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง และปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 21 — 23 กรกฎาคม และที่จังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร เมื่อวันที่ 9 - 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา

          โดยทางนางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้กล่าวถึงผลการสำรวจครั้งนี้ว่า จากการลงพื้นที่สอบถามเกษตรกรด้านความพึงพอใจ พบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อโครงการเป็นอย่างดี    ทั้งในส่วนของการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ เนื้อหาของหลักสูตรที่ใช้ฝึกอบรม วิทยากรผู้ถ่ายทอดความรู้   และสถานที่ที่ใช้ในการฝึกอบรม โดยมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุดประมาณ ร้อยละ 70 ระดับ  ปานกลางประมาณ ร้อยละ 20 และระดับน้อยถึงน้อยที่สุด ร้อยละ 10 ในส่วนของการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ เกษตรกรประมาณร้อยละ 60 เริ่มนำไปใช้ประโยชน์บางส่วน เช่น การปรับปรุงบำรุงดิน การทำปุ๋ยชีวภาพ   ส่วนเรื่องที่ยังไม่นำความรู้ไปใช้เนื่องจากบางเรื่องต้องมีการลงทุนเพิ่ม เช่น เรื่องการจัดระบบการให้น้ำ หรือ          การใช้พันธุ์ปาล์มน้ำมันคุณภาพดี เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้ว่าเกษตรกรจะเริ่มนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมดังกล่าวไปใช้แล้ว แต่ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อผลผลิตหรือคุณภาพของผลผลิตนั้น เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจน โดยให้ข้อคิดเห็นว่าคงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง ซึ่งคาดว่าฤดูกาลหน้าผลผลิตที่ได้รับจะดีขึ้นจากการนำความรู้ไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีทางเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในระดับจังหวัดและอำเภอ รวมถึงเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงไม่เข้าใจถึงประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดเขตการค้าเสรี จึงควรที่จะเร่งทำความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกร เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและปรับตัวก่อนที่ข้อตกลงจะเริ่มบังคับใช้ โดยอาจสอดแทรกในเนื้อหาการฝึกอบรม เช่น ข้อบังคับการให้สารเคมี หรือมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ