สศก. แนะ แนวทางอาชีพเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาสวยงาม โดยเฉพาะปลาหางนกยูง ซึ่งเพาะเลี้ยงง่ายและใช้พื้นที่น้อย มีตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศเผย เผย ไทยส่งออกพันธุ์ปลาสวยงามมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี มีตลาดหลักที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง
นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการ และรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันปลาหางนกยูงเป็นปลาสวยงามชนิดหนึ่งที่เกษตรกรนิยมเลี้ยงเพื่อการส่งออก เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กที่ออกลูกเป็นตัวและมีสีสันสวยงาม โดยมีการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีลักษณะสีสันลวดลายบนลำตัวและครีบ นิยมนำไปเลี้ยงเพื่อความสวยงามในตู้ ซึ่งแหล่งเพาะเลี้ยงปลาหางนกยูงในประเทศไทยมีหลายแห่ง จังหวัดกาญจนบุรี ถือเป็นแหล่งผลิตปลาหางนกยูงที่มีคุณภาพแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะที่อำเภอท่ามะกา มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสวยงาม จำนวน 112 ราย ซึ่งหากเกษตรกรมีการพัฒนาคุณภาพของผลผลิตให้ได้มาตรฐาน ตรงตามความต้องการของตลาด และมีการคัดเลือกสายพันธุ์ รวมทั้งการมีใจรัก ความตั้งใจ และหมั่นเรียนรู้เทคนิคในการเลี้ยงมาปรับใช้ในฟาร์มอย่างจริงจัง ก็จะสามารถเพิ่มราคาของผลผลิตได้มากเป็นเท่าตัว
โดยตลาดในประเทศจะมีการส่งขายที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ส่วนราคาจะขึ้นอยู่กับคุณภาพและขนาด ถ้าปลามีขนาดเล็ก สีสันไม่สวยงาม ราคาจะอยู่ที่ตัวละ 1-2 บาท ส่วนขนาดกลางตัวละ 3-4 บาท แต่หากเกษตรกรสามารถพัฒนาคุณภาพของปลาให้มีขนาดใหญ่ แข็งแรง และสีสันสวยงามตามความต้องการของตลาดได้ ก็จะสามารถเพิ่มรายได้มากถึง ตัวละ 5-6 บาท
สำหรับตลาดส่งออกจะมีเอเย่นต์รับซื้อส่งไป โดยมีตลาดหลักที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง เมื่อมีลูกค้าสั่งซื้อปลาเข้ามา ฟาร์มจะมีการคัดแยกปลาตามขนาดใส่ถุงไว้ให้ซึ่งประเทศไทยนับว่ามีพันธุ์ปลาสวยงามหลายชนิด และเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศจำนวนมาก มีมูลค่าการส่งออกถึงปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท จึงจัดได้ว่าอาชีพการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะมีตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ เป็นสินค้าที่มีอนาคตสดใส และสร้างศักยภาพในการส่งออกของไทย รองเลขาธิการ กล่าว
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--