ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Wednesday September 2, 2009 14:03 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดสุกรในสัปดาห์นี้ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะฝนตกแทบทุกพื้นที่ทำให้มีการบริโภคอาหารและสัตว์น้ำตามธรรมชาติมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรอ่อนตัวเล็กน้อย แนวโน้มคาดว่าราคาจะปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการบริโภคที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสารทจีน

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 56.56 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 56.59 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.05 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 54.38 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 54.07 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 58.35 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 61.29 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,600 บาท (บวกลบ 58) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 56.50 บาท และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 66.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดไก่เนื้อในสัปดาห์นี้ ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้ลดลง เนื่องจากมีฝนตกแทบทุกพื้นที่ทำให้มีอาหารและสัตว์น้ำตามธรรมชาติมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภค ไก่เนื้ออ่อนตัว แนวโน้มคาดว่าราคาจะปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการบริโภคที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสารทจีน

กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดให้มีระบบตรวจสอบย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลเพื่อสร้างฐานความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ สำหรับระบบบริการ e-Service ถือเป็นการพัฒนาครั้งสำคัญในวงการปศุสัตว์ทั้งระบบเพื่อให้เกษตรกรให้บริการออนไลน์ในการดำเนินการได้ทุกด้าน

บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด หรือซีพีเอฟ ได้ดำเนินการระบบตรวจสอบย้อนกลับมาแล้ว 3 ปี งบประมาณลงทุนซอฟแวร์ 30-40 ล้านบาท โดยส่งออกตลาดหลักในอียู ร้อยละ 60 และญี่ปุ่น ร้อยละ 30 ซึ่งอียูได้กำหนดให้ผู้ส่งออกต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกลับมากขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่นเริ่มให้ผู้ส่งออกใช้ระบบดังกล่าวเช่นกัน ส่วนการส่งออกสินค้าไก่ของซีพีเอฟ ช่วงครึ่งหลังปีนี้มีแนวโน้มดีกว่าครึ่งแรกของ ปี 2552 โดยช่วงครึ่งแรกปีนี้ส่งออกได้ 40,000 ตัน ขยายตัวร้อยละ 1 ส่วนช่วงครึ่งปีหลัง คาดจะส่งออกได้ 50,000 ตัน ทั้งปีคาดว่าจะประมาณ 90,000 ตัน ทั้งนี้ตลาด อียูจะขยายได้มากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มคลี่คลาย

ด้านบริษัทในเครือเบทาโกร ได้เริ่มดำเนินการระบบตรวจสอบย้อนกลับผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์กับสินค้าไก่และหมู มาตั้งแต่ปี 2547 ปัจจุบันตลาดส่งออกหลักอยู่ในอียู ร้อยละ 45 และญี่ปุ่น ร้อยละ 45 คาดว่าปีนี้จะส่งออกสินค้าไก่ได้ประมาณ 50,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 10 ทั้งนี้จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไก่ของไทย เพราะเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ ประกอบกับเป็นสินค้าไทยที่มีคุณภาพ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 38.89 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 39.43 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.37 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 40.52 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 38.56 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 37.96 บาท และภาคใต้ไม่มีรายงานในสัปดาห์นี้ ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 14.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 38.50 บาท และราคาขายส่งไก่สดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 48.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้เพราะช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้ให้ความร่วมมือในการปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงออกก่อนกำหนด เพราะแบกรับภาระขาดทุนไม่ไหว ทำให้ปริมาณผลผลิตไข่ไก่ลดลง ส่งผลให้ราคาไข่ไก่ในช่วงเดือน เมษายน-กรกฎาคม ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 กรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือจากองค์กรผู้เลี้ยง ผู้ค้า ให้ตรึงราคาไข่คละที่เกษตรกรขายได้ อยู่ที่ระดับฟองละ 2.50 — 2.60 บาท ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย เพื่อให้ผู้ค้าส่งและค้าปลีกสามารถจำหน่ายไข่ไก่ในระดับราคาที่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค เพราะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวราคาไข่ไก่ก็จะอ่อนตัวลงตามฤดูกาล แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัว

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 260 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 269 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 270 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 258 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 259 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 30.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 285 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 288 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 287 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.30 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ ร้อยฟองละ 247 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 309 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 275 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 338 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 350 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 42.80 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 42.82 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.04 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 45.48 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 35.08 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 46.14 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 53.60 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 34.18 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 34.45 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.78 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 47.00 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 31.62 บาท ภาคกลางและภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ ข่าวสัปดาห์ 24 - 30 สิงหาคม 2552-- -พห-


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ