1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
ปลานวลจันทร์ทะเลเลี้ยงในบ่อดินได้
นางสาวจินตนา นักระนาด ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เล่าให้ฟังว่าปลานวลจันทร์ทะเล หรือปลาดอกไม้ หรือปลาทูน้ำจืด เป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์ จีน และไต้หวัน เนื่องจากมีรสชาติดี เลี้ยงง่ายโตเร็ว สามารถอยู่ได้ทั้งในน้ำทะเล น้ำกร่อย และน้ำจืด มีความทนทานโรคค่อนข้างสูง กินอาหารได้หลากหลาย เช่น ตะไคร่น้ำ ไรน้ำ รำ รวมทั้งอินทรีย์สารตามพื้นบ่อและผิวน้ำ หรือสามารถให้อาหารสำเร็จรูปในการเลี้ยงแบบหนาแน่น ในประเทศไทยมีการสำรวจพบลูกปลานวลจันทร์เป็นครั้งแรกที่บริเวณชายฝั่งทะเลคลองวาฬ ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 ลูกปลาวัยอ่อนจะเข้ามาอาศัยหากินในบริเวณชายฝั่ง พบเป็นจำนวนมากในช่วงระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม และพบอีกช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ผลจากที่มีการสำรวจพบแหล่งลูกปลานวลจันทร์ทะเลที่ตำบลคลองวาฬ จึงได้มีการก่อตั้งสถานีประมงขึ้นในปี 2496 เพื่อรวบรวมและศึกษาทดลองเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล
เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรลูกปลานวลจันทร์ทะเลจากบ่ออนุบาลที่สถานีประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คือศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความสนพระราชหฤทัยในการเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล และเคยมีพระราชดำริให้นำลูกปลานวลจันทร์ทะเลไปปล่อยเลี้ยงในอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อำเภอหัวหิน เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้เป็นอาหารและเพิ่มรายได้ในการยังชีพ ซึ่งเป็นปลากินพืช เลี้ยงง่าย ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ได้รวบรวมลูกปลานวลจันทร์ทะเลจากธรรมชาติมาทดลองเลี้ยงไว้ในบ่อดินเพื่อรวบรวมไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ มาตั้งแต่ก่อนปี 2530 พร้อมทั้งร่วมกับกองพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำในการพัฒนา การแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลานวลจันทร์ทะเลในรูปแบบต่างๆ เช่น ปลานวลจันทร์ทะเลรมควัน ปลาก้างนิ่ม ปลา ต้มเค็มต้มหวานบรรจุกระป๋อง ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่ามีรสชาติดี และสะดวกต่อการบริโภค
การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลต้องใช้ระยะเวลายาวนานไม่น้อยกว่า 5-6 ปี ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ได้คัดเลือกปลานวลจันทร์ทะเลที่มีขนาดใหญ่ สำหรับใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์จากบ่อดิน ขึ้นขุนเลี้ยงในบ่อคอนกรีต เพื่อการเพาะขยายพันธุ์นับตั้งแต่ก่อนปี 2540 ปลามีการวางไข่แต่มีจำนวนไม่มาก และอัตราการฟักและอัตราการรอดตายต่ำ ในปี 2545 ได้ทำการทดลองฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นการวางไข่ของปลา เพศเมีย แต่พบว่ามีอัตราการผสมต่ำมาก เนื่องจากพ่อแม่พันธุ์ยังขาดความสมบูรณ์ ต่อมาในปี 2548 พ่อแม่พันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลมีการผสมพันธุ์วางไข่ในบ่อคอนกรีต และสามารถอนุบาลลูกปลาได้เป็นผลสำเร็จ แต่ในระยะแรกลูกปลายังมีอัตราการฟักและอัตรารอดตายต่ำ และตั้งแต่ปี 2551มาจนถึงปัจจุบัน กรมประมงมีนโยบายมุ่งเน้นการพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลอย่างจริงจัง โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้สำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งได้ให้ความร่วมมือในการพัฒนาอาหารสำหรับพ่อแม่พันธุ์ พัฒนาเทคนิคการเพาะฟักและอนุบาล โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ผลิตไข่และลูกปลาแรกฟักแจกจ่ายให้แก่ศูนย์และสถานีอื่น ๆ นำไปทดลองอนุบาล ในที่สุดก็สามารถอนุบาลลูกปลานวลจันทร์ทะเลจนได้ขนาดความยาวกว่า 2 ซม. ซึ่งพร้อมนำลงปล่อยตามธรรมชาติ หรือนำลงสู่บ่อเลี้ยงได้แล้วเป็นจำนวนไม่น้อย
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา(1 — 7 ส.ค. 2552) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 894.90 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 506.93 ตัน สัตว์น้ำจืด 387.97 ตัน ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 2.64 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 3.91 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 108.70 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 0.26 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 68.33 ตัน
การตลาด
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 41.80 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 41.89 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.09 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคาจากองค์การสะพานปลากรุงเทพฯ
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 67.54บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 64.72 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 2.82 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯเฉลี่ยกิโลกรัมละ 110.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 105.31บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 106.09 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.78 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 107.50 บาทสูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 105.83 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.67 บาท
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 53.04 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 53.72 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.68 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 60.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้ ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 120.71 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 120.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.71 บาท
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.05 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 8.06 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.01 บาท
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 22 — 28 ส.ค. 2552) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 33.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 34.98 ของสัปดาห์ก่อน 1.48 บาท
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ ข่าวสัปดาห์ 24 - 30 สิงหาคม 2552-- -พห-