ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Thursday September 10, 2009 14:02 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดสุกรในสัปดาห์นี้ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ลดลงเล็กน้อย แม้ว่าอยู่ในช่วงเทศกาลสารทจีน แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาการจับจ่ายใช้สอยลดน้อยลง ประกอบกับเกิดภาวะฝนตกทั่วทุกภาคทำให้มีการบริโภคสัตว์น้ำตามธรรมชาติมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรอ่อนตัวเล็กน้อย แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 56.48 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 56.56 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.14 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 54.34 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 53.07 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 58.24 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 61.29 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,600 บาท (บวกลบ 58) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 57.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 56.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.77 และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 67.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 66.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.50

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะตลาดเริ่มคึกคัก เนื่องจากเข้าสู่ช่วงเทศกาลสารทจีน ประกอบกับได้มีการควบคุมปริมาณการผลิตไก่เนื้อให้สมดุลย์กับความต้องการบริโภค แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือสูงขึ้น

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป รายงานว่าขณะนี้ สหภาพยุโรปอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับภาษีการนำเข้าสัตว์ปีกแปรรูป 8 รายการ ตามที่ผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการส่งออกไก่แปรรูปของไทยที่ได้รับโควตาการนำเข้าปีละ 1.6 แสนตัน ให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น ประกอบกับปัจจุบันสหภาพยุโรปอนุญาตให้จีนส่งออกไก่แปรรูป ซึ่งสินค้าจีนมีราคาถูกกว่าสินค้าของไทยมาก ดังนั้นหากสหภาพยุโรปปรับภาษีนำเข้าจริงจะทำให้ตลาดสหภาพยุโรปมีการแข่งขันที่สูงมาก และเพื่อลดผลกระทบของภาคเอกชน กระทรวงเกษตรฯ ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์เจรจาขอขยายโควตา โดยนำโควตาไก่สดที่ไทยไม่เคยใช้เพราะติดปัญหาไข้หวัดนกมารวมด้วย ประมาณปีละ 1 แสนตัน นอกจากนี้ไทยได้ผลักดันนโยบายการจัดทำระบบการเลี้ยงสัตว์ปีก ภายใต้ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพหรือ คอมพาร์ตเมนท์ให้ประเทศผู้นำเข้าและองค์การมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านอาหาร (CODEX) ภายใต้องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รับรอง ในเบื้องต้นสหภาพยุโรปสนใจเรื่องนี้และปรับใช้กับผู้เลี้ยงไก่ไข่ภายในประเทศ ซึ่งหากประสบผลสำเร็จสหภาพยุโรปจะขยายโครงการไปสู่การเลี้ยงไก่เนื้อซึ่งจะเป็นโอกาสของไทยที่จะส่งออกไก่สดอีกครั้ง

สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่เนื้อ เห็นว่าหากสหภาพยุโรปปรับภาษีการนำเข้าไก่ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมากรวมกับต้นทุนข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์ที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามขณะนี้ต้องเร่งผลิตไก่เพื่อส่งมอบในช่วงเทศกาลปลายปีที่ผู้นำเข้าสั่งซื้อมากขึ้นในราคาที่ดีมาก โดยในปีนี้จะส่งออกได้เกิน ร้อยละ 8-9 จากเป้าที่กำหนดเอาไว้ 3.5 แสนตัน

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 38.99 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 38.89 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.26 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 41.05 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 38.56 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 37.84 บาท และภาคใต้ไม่มีรายงานในสัปดาห์นี้ ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 14.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 40.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 38.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 5.19 และราคาขายส่งไก่สดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 51.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 48.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 6.19

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้ปรับลดปริมาณการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภค ขณะที่ความต้องการบริโภคไข่ไก่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะไข่ไก่เป็นอาหารที่มีโปรตีนและราคาถูก คาดว่าราคาจะทรงตัว

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 260 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 269 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 270 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 258 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 259 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 30.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 285 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 289 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 288 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.42 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ ร้อยฟองละ 247 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 309 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 278 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 338 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 350 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 42.78 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 42.80 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.05 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 45.48 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 35.08 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 46.04 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 53.60 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 34.18 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 34.45 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.78 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 47.00 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 31.62 บาท ภาคกลางและภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ ข่าวสัปดาห์ 31 สิงหาคม - 6 กันยายน 2552--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ