1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การผลิต
1) ระวังโรคและแมลงระบาดในนาข้าว
กรมการข้าวเตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2552/53 ให้เฝ้าระวังการระบาดโรคแมลงต่างๆ ในนาข้าว เนื่องจากมีการตรวจพบเพลี้ยงกระโดดสีน้ำตาลในปริมาณสูง ในพื้นที่ภาคกลางโดยเฉพาะในจังหวัดสุพรรณบุรี และนครสวรรค์ เกษตรกรควรควบคุมด้วยสารฆ่าแมลงตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ และที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการใช้สารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ เพราะจะทำลายศัตรูธรรมชาติเป็นผลให้เกิดการเร่งการระบาดของเพลี้ยจักจั่นสีเขียว และเพลี้ยกระโดดอื่นๆ
นอกจากนี้ ยังเกิดการระบาดของโรคต่าง ๆ ในช่วงต้นฤดูการเพาะปลูกข้าวอีกมาก เช่น โรคขอบใบแห้ง ที่ จ. อ่างทอง และ สุรินทร์ โรคไหม้ที่ จ.นครสวรรค์ และแม่ฮ่องสอน การระบาดของหอยเชอรี่ในนาข้าวที่ จ.ตราด และมหาสารคาม และเพลี้ยกระโดดหลังขาว แมลงบั่วที่ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งโรคระบาดต่างๆ เหล่านี้ มีผลกระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกร ทำให้ข้าวเสียหายผลผลิตลดลง ต้นทุนสูง เกษตรกรต้องติดตามดูแลข้าวในท้องนาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้หาทางแก้ไขได้ทัน และถูกวิธี โดยเฉพาะแมลงบั่วที่มีการระบาดที่ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ข้าวบางส่วนเริ่มแตกกอ และอยู่ในช่วงฝนตก ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะแก่แมลงบั่วขยายพันธุ์มาก และจะเข้าทำลายต้นข้าวของเกษตรกร ทั้งนี้เนื่องจากความชื้นมีความสัมพันธ์กับการวางไข่ จำนวนไข่ การฟักไข่ การอยู่รอดหลังจากฟักจากไข่ของหนอน และการเข้าทำลายยอดอ่อนของต้นข้าว เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ หากเกษตรกรพบลักษณะต้นข้าวที่แมลงบั่วทำลาย (หลอดบั่วหรือหลอดหอม) เกษตรกรไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงใดๆ ในการป้องกันกำจัดเนื่องจากไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และยังเป็นการทำลายศัตรูธรรมชาติ เช่น ไรตัวห้ำทำลายไข่แมลงบั่ว และแตนเบียนหนอนด้วย
วิธีปฏิบัติเมื่อพบแมลงบั่วทำลาย เกษตรกรสามารถปฏิบัติได้ ดังนี้
- ข้าวที่หว่านไปแล้วและอายุไม่ถึง 40 วัน เมื่อพบแมลงบั่วเล่นไฟจำนวนมาก ควรงดการใส่ปุ๋ยเพื่อเร่งการแตกกอ และทำให้ข้าวเปราะบาง
- ข้าวที่ยังไม่ได้หว่านให้ชะลอจนกว่าปริมาณฝนลดลง ซึ่งปริมาณแมลงบั่วจะลดลงด้วย หรือข้าวที่ยังไม่ได้ปักดำควรชะลอเช่นเดียวกัน เพื่อให้พ้นช่วงที่มีแมลงบั่วจำนวนมาก หรือใช้ต้นกล้าอายุมากขึ้น แต่ควรตัดต้นกล้าที่ยอดสั้นทิ้ง เนื่องจากเป็นต้นที่มีแมลงบั่วเข้าทำลายแล้ว
อย่างไรก็ตามหากเกษตรกรที่มีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้จากเจ้าหน้าที่เกษตรกรตำบล เกษตรอำเภอ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน่วยของกรมการข้าวใกล้บ้านหรือที่ศูนย์บริการชาวนา 50 แห่งทั่วประเทศ
2) คณะรัฐมนตรีขยายระยะเวลาจำนำข้าวนาปรัง ปี 2552
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 52 ให้ขยายระยะเวลาโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 จากเดิมสิ้นสุด 31 ก.ค. 52 เป็นสิ้นสุด 30 ก.ย. 52 โดยจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรโควตาดำเนินการได้เท่าที่มีโควตาเหลือ ซึ่งรวมกันแล้วต้องไม่เกินเป้าหมายรับจำนำ 6 ล้านตัน และไม่ให้โควตาแก่เกษตรกรที่เคยใช้สิทธิ์แล้ว
3) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552
- เป้าหมายรับจำนำ จำนวน 6 ล้านตันข้าวเปลือก
- ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.-30 ก.ย. 52
- ราคารับจำนำ ข้าวเปลือกเจ้า 5% ราคาตันละ 11,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 11,600 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 11,200 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 10,800 บาท ข้าวเปลือกเหนียว 10% (คละ) ตันละ 9,000 บาท และจากมติ กขช. เมื่อวันที่ 29 เมย. 52 เพิ่มราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) ราคาตันละ 10,000 บาท (ซึ่งเป็นข้าวเหนียวคุณภาพดีส่วนใหญ่ปลูกในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา เป็นต้น)
- ผลการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.- 2 ก.ย.52 มี ปริมาณข้าวเปลือกที่รับจำนำ 5,146,645 ตัน คิดเป็นร้อยละ 85.78 ของเป้าหมายที่รับจำนำ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
จำนวนจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ ปริมาณข้าวเปลือกที่รับจำนำสะสม (ตัน) ข้าวเจ้า ข้าวปทุมธานี ข้าวเหนียว รวมข้าวทุกชนิด ภาคเหนือ 14 จังหวัด 2,032,165 28,232 45,397 2,105,794 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด 155,100 - 9,293 164,393 ภาคกลาง 20 จังหวัด 2,249,055 602,491 - 2,851,546 ภาคใต้ 3 จังหวัด 24,912 - - 24,912 รวม 48 จังหวัด 4,461,232 630,723 54,690 5,146,645
ที่มา : กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
ภาวะการซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้ ราคาในสัปดาห์นี้ราคาข้าวยังคงทรงตัวใกล้เคียงจากสัปดาห์ก่อน ยกเว้นข้าวหอมมะลินาปี ปี 2551/52 ซึ่งขณะนี้มีปริมาณในตลาดเหลือน้อยแต่ความต้องการทั้งภายในและภายนอกประเทศยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการประกาศขยายโครงการรับจำนำข้าวนาปรัง ปี 2552 ออกไปจนสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 52 ราคาข้าวนาปรังปี 2552 ในประเทศยังคงไม่กระเตื้องเนื่องจากขณะนี้ผลผลิตข้าวนาปี ปี 2552/53 ได้ทยอยออกมาพร้อมกับข้าวนาปรัง ปี 2552 มากขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงฤดูฝนจึงทำให้ข้าวมีความชื้นสูง
การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 28 สิงหาคม 2552 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 5,737,738 ตันข้าวสาร ลดลงจาก 7,568,477 ตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 24.19 (ที่มา: กรมการค้าภายใน)
1.3 ราคา
ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,325 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,280 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.34
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,933 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,035 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.13
ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,519 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,425 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.26
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ความชื้น 14-15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,650 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,738 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.00
ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,710 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,730 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.13
ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 2 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 979 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ (33,077 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 963 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,531 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.66 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 546 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 749 ดอลลาร์สหรัฐฯ (25,306 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 4 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 516 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,434 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 3 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 432 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,596 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 3 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 603 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,373 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 588 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,863 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.55 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 510 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.7861 บาท
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ ข่าวสัปดาห์ 31 สิงหาคม - 6 กันยายน 2552--