ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ประมง

ข่าวทั่วไป Monday September 21, 2009 14:35 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ

การผลิต

ทูตเกษตรอียูเตือนรับมือกฎสัตว์น้ำอินทรีย์

นายอดิศร พร้อมเทพ อัครราชทูตฝ่ายการเกษตร สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประทศประจำสหภาพยุโรป(อียู)เปิดเผยว่า ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการอียูได้ให้ความเห็นชอบกฎระเบียบใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชสาหร่ายแบบอินทรีย์ ซึ่งถือเป็นกฎหมายฉบับแรกที่กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการผลิตปลาและอาหารทะเลแบบอินทรีย์ที่นำมาบังคับใช้ทั่วทั้งอียูและเพื่อให้เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีเวลาพอในการปรับปรุงการผลิตให้สอดคล้องกับกฎระเบียบใหม่ ทางกรรมาธิการอียูกำหนดให้มีช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านกฎหมายฉบับนี้ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ทั้งนี้ผู้บริโภคหันมาให้ความใส่ใจกับสุขภาพความปลอดภัยของอาหารและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ส่งผลความต้องการบริโภคสัตว์น้ำอินทรีย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่การรับรองมาตรฐานมีหลากหลาย ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน อียูต้องกำหนดกฎระเบียบกลาง เพื่อเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำให้ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์ทั้งหลายในอียูต้องปฏิบัติตาม

ทั้งนี้ Naturland ซึ่งเป็นองค์กรของประเทศเยอรมัน ที่มีบทบาทสำคัญในตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ เห็นว่ากฎระเบียบใหม่นี้ แม้ว่าจะช่วยส่งเสริมการผลิตปลาแบบอินทรีย์ในอียู แต่มีบางประเด็นที่ควรปรับปรุง เช่นความหนาแน่นในการเลี้ยงปลาถูกกำหนดไว้ในระดับที่สูงเกินไป กฎระเบียบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์ดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎระเบียบหลัก Council Regulation ที่ว่าด้วยการผลิตและการติดฉลากสินค้าอินทรีย์ มีผลบังคับใช้ทั้งกับสินค้าอินทรีย์ที่ผลิตภายในประเทศสมาชิกอียูและสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศที่สาม ดังนั้น ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์ในประเทศไทย เช่น ฟาร์มกุ้งและปลาแบบอินทรีย์ ที่ต้องการจะส่งสินค้าออกไปอียู จึงต้องปรับปรุงขั้นตอนการผลิตให้สอดคล้องกับกฎระเบียบใหม่ของอียูอย่างเคร่งครัดด้วย

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา(15 — 21 ส.ค. 2552) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,085.47 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 655.50 ตัน สัตว์น้ำจืด 429.97 ตัน ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่

          1.1  ปลาดุก            ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                 2.41    ตัน
          1.2  ปลาช่อน           ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                 4.13    ตัน
          1.3  กุ้งทะเล           ส่งเข้าประมูลจำหน่าย               140.76    ตัน
          1.4  ปลาทู             ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                10.08    ตัน
          1.5  ปลาหมึก           ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                97.10    ตัน

การตลาด

ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ

2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 42.16 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 41.83 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.33 บาท

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคาจากองค์การสะพานปลากรุงเทพฯ

2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 65.40 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 65.22 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.18 บาท

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯเฉลี่ยกิโลกรัมละ 110.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 106.85 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 106.09 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.76 บาท

สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 110.00 บาทสูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 108.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 2.00 บาท

2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 53.78 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 52.37 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.41 บาท

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 60.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้ ไม่มีรายงานราคา

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 120.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.12 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 8.27 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.15 บาท

สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 5 — 11 ก.ย. 2552) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 32.20 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ ข่าวสัปดาห์ 7 - 13 กันยายน 2552--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ