1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การผลิต
1) การเพาะปลูกข้าวนาปี ปี 2552/53
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้พยากรณ์การเพาะปลูกข้าวนาปี ปี 2552 ว่าจะมีพื้นที่เพาะปลูก 57.256 ล้านไร่ ได้ผลผลิต 23.512 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 411 กิโลกรัม/ไร่
ผลผลิตลดลงเนื่องจากช่วงเพาะปลูกกระทบแล้ง และบางพื้นที่ในภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง ประสบปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาด และในเกือบทุกภาคมีหอยเชอรี่ระบาดกัดกินข้าว ในช่วงที่ต้นข้าวยังอ่อนอยู่ทำให้ข้าวเสียหายเป็นต้น
2) กรมการข้าวเตือนระวังหอยเชอรี่ระบาดในนาข้าว
นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์ข้าวกรมการข้าว ได้รายงานถึงสถานการณ์ศัตรูข้าวในระหว่างวันที่ 4-10 กันยายน 2552 ว่า ในช่วงนี้มีฝนฟ้าคะนองกระจายเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ประกอบกับมีฝนตกหนักบางแห่ง พื้นที่ที่อยู่ในที่ลุ่มหรือบริเวณรอบฝั่ง แม่น้ำควรตรวจสอบและเตรียมอุปกรณ์สำหรับระบายน้ำให้พร้อมใช้งาน เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก สำหรับเกษตรกรอาจพบการแพร่ระบาดของหอยเชอรี่ได้ ควรทำตะแกรงดักน้ำเข้านากันหอยเชอรี่ที่ไหลมากับน้ำแพร่กระจายเข้าสู่แปลงนา
ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เห็นว่าเกษตรกรจะต้องติดตามดูแลข้าวในนาอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากการระบาดของหอยเชอรี่ โรคระบาดในนาข้าวต่างๆ ในกรณีที่ประสบปัญหาเกษตรกรสามารถปรึกษาเกษตรตำบลที่อยู่ใกล้บ้านท่าน เพื่อจะได้ให้คำแนะนำในการจำกัดโรคและแมลงต่างๆได้ทันเวลาจะได้ไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่การผลิตข้าว
อย่างไรก็ตาม กรมการข้าวได้เสนอให้ความรู้เรื่องหอยเชอรี่ และแนะวิธีการป้องกันการกำจัดหอยเชอรี่ที่ถูกวิธี และเกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้ ดังนี้
หอยเชอรี่ (golden apple snail) หรือที่เรียกกันว่า หอยโข่งเหลือง หอยเป๋าฮื้อน้ำจืด มีลักษณะคล้ายหอยโข่งไทย แต่เปลือกสีอ่อนกว่า ในประเทศไทยมี 2 ชนิด มีเปลือกสีเหลืองปนน้ำตาล เนื้อและหนวดเป็นสีเหลืองและชนิดที่มีเปลือกสีเขียวเข้มปนดำ มีแถบสีดำจางๆ พาดตามความยาว เนื้อและหนวดเป็นสีน้ำตาลอ่อน หอยตัวเต็มวัยอายุเพียง 3 เดือน สามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้ครั้งละ 388-3,000 ฟอง แม่หอยสามารถวางไข่ได้ตลอดปีโดยเฉพาะฤดูฝนจะวางไข่ได้ถึง 10-14 ครั้งต่อเดือน ส่วนในฤดูร้อนจะวางไข่ได้น้อยลง ไข่หอยเชอรี่จะฟักเป็นตัวภายใน 7-12 วัน ลูกหอยตัวเล็กๆ จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อมีขนาด 1.6 เซนติเมตร เริ่มกัดกินต้นข้าวตั้งแต่ระยะปักดำจนถึงแตกกอ โดยจะกัดกินลำต้นข้าวใต้ผิวน้ำสูงเหนือโคนต้น 0.5-1 นิ้ว แล้วกินส่วนใบที่ลอยน้ำต่อไปจนหมดต้น
การป้องกันและกำจัดหอยเชอรี่ ให้ประสบผลสำเร็จจำเป็นต้องใช้วิธีการต่างๆ ร่วมกัน การใช้สารเคมีอย่างเดียวจะทำให้การกำจัดไม่ได้ผล อีกทั้งยังต้องใช้สารเคมีในปริมาณมากขึ้น ดังนั้นเกษตรกรควรคำนึงว่าการป้องกันและกำจัดหอยเชอรี่ที่ดีที่สุดคือ ใช้วิธีผสมผสานโดยมีขั้นตอนดังนี้
1. ใช้วัสดุกั้นทางที่ไขน้ำเข้านา หอยเชอรี่แพร่กระจายและระบาดเข้าสู่นาข้าวโดยทางน้ำเท่านั้นดังนั้นทุกครั้งที่สูบน้ำเข้านา ไม่ว่าจะเป็นนาดำหรือนาหว่าน ให้ใช้เฝือกกันสวะและหอยที่มีขนาดใหญ่ก่อน แล้วจึงกั้นตามอีกขั้นด้วยตาข่ายไนล่อนตาถี่ ต้องเก็บหอยและสวะออกจากตาข่ายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้กีดขวางทางน้ำเข้า
2. ปักไม้รวกข้างคันนาเป็นแนวทุก 10 ก้าว เพื่อล่อให้หอยมาไข่บนหลักไม้
3. ทำลายไข่หอยที่อยู่บนหลักไม้ รวมทั้งไข่ที่อยู่ตามต้นข้าวและวัชพืชข้างคันนา อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ติดต่อกัน 4-6 สัปดาห์
4. เก็บตัวหอยที่รอดตายจากการใช้สารฆ่าหอย อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง โดยช้อนตัวหอยด้วยกระชอนที่ต่อด้ามยาว ซึ่งหอยจะอยู่บริเวณที่ลุ่มหรือที่ร่มข้างคันนา ทั้งนี้เพราะถ้าปล่อยทิ้งให้หอยอยู่ในนาข้าวหอยจะกัดกินต้นข้าวและวางไข่แพร่ลูกหลานอีกจำนวนมาก
5. ใช้สารฆ่าหอย เพื่อกำจัดหอยที่ฝังตัวจำศีลค้างอยู่ในนาข้าวตั้งแต่ฤดูที่แล้ว การใช้สารจะต้องใช้ขณะที่มีน้ำในนาสูง 5 เซนติเมตร และต้องฉีดพ่นให้มากขึ้นในบริเวณที่ลุ่ม ซึ่งหอยมักจะรวมกันเป็นจำนวนมากดังนั้นในนาดำจึงต้องพ่นสารทันทีหลังปักดำ ส่วนในนาหว่านน้ำตมให้ใช้สารหลังจากข้าวงอกแล้ว และไขน้ำเข้านาจนมีระดับน้ำสูงคงที่ 5 เซนติเมตร ควบคุมระดับน้ำเท่าเดิม ภายหลังใส่สารแล้วอย่างน้อย 2 วัน ทั้งนี้เพื่อรักษาความเข้มข้นของสารฆ่าหอยที่ใส่ลงในนาข้าว ถ้าน้ำมากเกินไป ปริมาณสารที่หอยได้รับจะไม่เพียงพอที่จะทำให้หอยตาย หากน้ำแห้ง หอยจะปิดฝา ทำให้รับสารไม่เต็มที่ หลังจากระยะนี้ผ่านไปแล้วถ้าเป็นไปได้ควรลดระดับน้ำในนาให้ต่ำที่สุด เพื่อป้องกันหอยที่เหลือกัดทำลายต้นข้าว ข้อสำคัญคือควรจะใช้สารเพียงครั้งเดียวต่อฤดูปลูกข้าว ใช้สารในวันที่ฝนไม่ตก
1.2 การตลาด
1) กขช. มีมติขยายการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และเพิ่มโควตาการประกันรายได้
มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2552 เห็นชอบขยายเวลาการขึ้นทะเบียนเกษตรกร จากเดิมที่จะสิ้นสุด วันที่ 30 ก.ย. 52 เป็นสิ้นสุดเป็นวันที่ 31 ต.ค. 52 เนื่องจากขึ้นทะเบียนล่าช้า โดยเฉพาะการทำประชาคมในพื้นที่ ซึ่งได้กำชับให้กระทรวงมหาดไทยเร่งเข้าไปดำเนินการในเรื่องการทำประชาคม สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ให้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรในช่วง วันที่ 1 ต.ค. 52 - 28 ก.พ. 53
นอกจากนี้ กขช. ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การประกันรายได้ให้เกษตรกร ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2552/2553 โดยราคาประกันราคาข้าวเปลือก ณ ความชื้นไม่เกิน 15% กำหนด และปริมาณที่รัฐฯให้ประกันได้เท่าที่เกษตรกรผลิตได้จริงแต่ไม่เกินปริมาณที่กำหนดให้ ดังนี้
ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,300 บาท ปริมาณที่รับประกันไม่เกิน 14 ตัน /ครัวเรือน ข้าวเปลือกหอมจังหวัด ตันละ 14,300 บาท ปริมาณที่รับประกันไม่เกิน 16 ตัน /ครัวเรือน ข้าวเปลือกเจ้าตันละ ตันละ 10,000 บาท ปริมาณที่รับประกันไม่เกิน 25 ตัน /ครัวเรือน ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ปริมาณที่รับประกันไม่เกิน 25 ตัน /ครัวเรือน ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,500 บาท ปริมาณที่รับประกันไม่เกิน 16 ตัน /ครัวเรือน
โดย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิประกันราคาได้ทุกครัวเรือนแต่ต้องไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ปลูกข้าวกับเกษตรอำเภอก่อน ซึ่งเกษตรกรจะต้องเตรียมหลักฐานได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน โฉนดที่ดิน นส.3ก สปก.4-01 สัญญาเช่า พร้อมตัวจริงไปแสดงกันเจ้าหน้าที่หากเกษตรกรท่านใดไม่เข้าใจให้สอบถามเกษตรเจ้าหน้าที่เกษตรตำบล เกษตรอำเภอ ธ.ก.ส. ที่ใกล้บ้านท่าน
2) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552
ผลการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.- 17 ก.ย.52 มี ปริมาณข้าวเปลือกที่รับจำนำ 5,184,802 ตัน คิดเป็นร้อยละ 86.41 ของเป้าหมายที่รับจำนำ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
จำนวนจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ --------------- ปริมาณข้าวเปลือกที่รับจำนำสะสม (ตัน) ----------------- ข้าวเจ้า ข้าวปทุมธานี ข้าวเหนียว รวมข้าวทุกชนิด ภาคเหนือ 14 จังหวัด 2,033,230 28,232 45,397 2,106,859 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด 154,930 - 9,293 164,223 ภาคกลาง 20 จังหวัด 2,258,548 605,710 - 2,864,258 ภาคใต้ 3 จังหวัด 49,462 - - 49,462 รวม 48 จังหวัด 4,496,170 633,942 54,690 5,184,802
ที่มา : กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
ภาวะการซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเริ่มขยับตัวสูงขึ้นในทุกตลาดเนื่องจากผู้ส่งออกได้ออกมาเตรียมซื้อข้าวเพื่อสต็อกสำหรับส่งมอบให้ลูกค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ความแห้งแล้งของประเทศอินเดีย คาดว่าผลผลิตจะเสียหาย จึงยังคงห้ามส่งออกข้าวขาวต่อไปอีก รวมทั้งข่าวประเทศเวียดนามได้ทำสัญญาขายข้าวล่วงหน้าบ้างแล้ว ประกอบกับผลของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 ยังดำเนินการอยู่ ซึ่งช่วยพยุงราคาตลาดได้ในระดับหนึ่ง แม้ขณะนี้ผลผลิตข้าวนาปี ปี 2552/53 ได้เริ่มทยอยออกสู่ตลาดแล้วก็ตาม
การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 14 กันยายน 2552 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 6,111,028 ตันข้าวสาร ลดลงจาก 8,024,253 ตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 23.84 (ที่มา: กรมการค้าภายใน)
1.3 ราคา
ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,979 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,883 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.65
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,331 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,370 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.41
ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,283 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,167 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.62
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ความชื้น 14-15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,299 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,269 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.33
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ ข่าวสัปดาห์ 14 - 20 กันยายน 2552--