สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 จังหวัดชัยนาท ร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามและประเมินผลโครงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวปลอดภัยและได้มาตรฐานจังหวัดชัยนาทปี 2552 พบเกษตรกรเข้าร่วมเพราะต้องการความรู้ด้านการเกษตรเพิ่มเติม ต้องการลดรายจ่ายและต้นทุน เผยเกษตรกรกว่าร้อยละ 98 นำความรู้ไปใช้ประโยชน์แล้ว
นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต (สศข.7) จังหวัดชัยนาท สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง โครงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวปลอดภัยและได้มาตรฐานจังหวัดชัยนาท ปี 2552 ว่าเป็นการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานเกษตรในจังหวัดชัยนาท โดยมี สศข. 7 ทำหน้าที่ติดตามและประเมินผลโครงการ
ซึ่งโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวของเกษตรกร ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่เหมาะสม พัฒนากระบวนการผลิตข้าวของเกษตรกรให้ปลอดภัยและได้มาตรฐานตามระบบการจัดการผลิตข้าวระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (Good Agricultural Practice :GAP) เชื่อมโยงการผลิต การแปรรูป และการตลาด โดยได้รับการสนับสนุนจากงบพัฒนาจังหวัดชัยนาทปี 2552 มีการรวมกลุ่มเกษตรกร จำนวน กลุ่ม จัดตั้งเป็นโรงเรียนเกษตรกร ถ่ายทอดความรู้การผลิตข้าวที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ส่งเสริมการผลิตสารชีวภัณฑ์ มีแปลงสาธิตการไถกลบตอซัง รวมทั้งตรวจวิเคราะห์ดิน ตลอดจนตรวจรับรองมาตรฐานแหล่งผลิต รวมถึงส่งเสริมการตลาดข้าว
สำหรับผลการติดตามโครงการจากเกษตรกรผู้ร่วมโครงการ พบว่า เหตุผลที่เข้าร่วมโครงการเพราะต้องการความรู้ด้านการเกษตรเพิ่มเติมร้อยละ 40 ต้องการลดรายจ่ายลดต้นทุนร้อยละ 38 ด้านความพึงพอใจของเกษตรกรที่มีต่อวิทยากรผู้ถ่ายทอดความรู้ สถานที่ฝึกอบรม เนื้อหาหลักสูตรที่ใช้ฝึกอบรม และระยะเวลาการอบรม โดยมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ร้อยละ 77,76,66 และ 60 ตามลำดับ ด้านการได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการ พบว่าเกษตรกรได้รับความรู้ด้านการเกษตรเพิ่มขึ้นในระดับมากร้อยละ 62 สามารถแก้ไขปัญหาของเกษตรกรได้ด้วยตนเองในระดับมากร้อยละ 49.5 และระดับปานกลางร้อยละ 49 และสามารถลดต้นทุนได้ในระดับมาก ร้อยละ 59.5 ส่วนการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ มีเกษตรกรประมาณร้อยละ 98 เริ่มนำไปใช้ประโยชน์ เช่น การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การปรับปรุงบำรุงดิน การทำปุ๋ยชีวภาพ การผลิตเชื้อราบิวเวอเรีย และการไถกลบตอซังข้าว เป็นต้น ซึ่งคาดว่าช่วงฤดูกาลผลิตหน้าเกษตรกรจะนำความรู้ไปปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง
นายชวพฤฒ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อเสนอแนะของโครงการในลักษณะดังกล่าวนั้น หน่วยงานราชการควรเตรียมการและดูแลความพร้อมของเกษตรกรว่าจะสามารถเข้าร่วมโครงการได้ในช่วงเวลาใด จึงจะสามารถวางแผนให้สอดคล้องกับช่วงเวลาว่างของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำความรู้จากการฝึกอบรมพัฒนาไปปฏิบัติจริงในพื้นที่ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--