สศก. ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตเกษตรกรสมาชิกตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ปี 52 ใน 9 จังหวัดทั่วประเทศ เผย โครงการฯ สำเร็จตามเป้า ดำเนินการแล้วในพื้นที่ 53 นิคมสหกรณ์ 32 จังหวัด มีการอบรมแก่เกษตรกรแล้ว 3,685 ราย ปฏิบัติแล้วเห็นผลได้จริง
นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการ และรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลัง สศก. ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน โครงการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตเกษตรกรสมาชิกตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2552 ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) ใน 9 จังหวัด ได้แก่ พะเยา ตาก สุโขทัย ระยอง ปราจีนบุรี ลพบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร และชุมพร ระหว่างวันที่ 25 — 31 กรกฎาคม และ 1 — 8 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าว มีดำเนินการในพื้นที่ 53 นิคมสหกรณ์ 32 จังหวัด เป็นการอบรมสมาชิกตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบเข้มข้นทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีการอบรมเกษตรกรสมาชิกนิคมสหกรณ์แล้ว 3,685 ราย ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
โดยปี 2552 ได้รับงบประมาณดำเนินการโครงการฯ ดังกล่าว และจากการติดตามผลการดำเนินงานในพื้นที่ พบว่า เกษตรกรร้อยละ 82 ได้เข้าร่วมโครงการฯ เพราะต้องการความรู้ด้านการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต้องการลดรายจ่ายและต้นทุนการผลิต อีกทั้งมีเจ้าหน้าที่แนะนำและชักชวน รวมทั้งต้องการนำความรู้ไปพัฒนาอาชีพให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และต้องการนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับเพื่อนบ้าน ด้านผลที่เกิดขึ้นภายหลังเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ พบว่า โดยภาพรวมถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากเกษตรกรนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปปฏิบัติแล้วเห็นผลจริง โดยเกษตรกรกลุ่มเห็นว่าเมื่อปฏิบัติแล้วสามารถลดต้นทุนการทำการเกษตรและช่วยแก้ปัญหาด้านโรคพืชและสัตว์ของตนเองได้ โดยร้อยละ 95 รู้จักการทำงานเป็นกลุ่มมากขึ้น ร้อยละ 92 มีอาชีพเสริม/มีรายได้เพิ่มขึ้น และใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์มากขึ้น ซึ่งความรู้ที่เกษตรกรนำไปปฏิบัติมากที่สุด คือ การประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำเกษตรแบบลดรายจ่าย คิดเป็นร้อยละ 97 รองลงมา คือ การทำบัญชี คิดเป็นร้อยละ 90 และการปรับปรุงบำรุงดิน คิดเป็นร้อยละ 59
รองเลขาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม จากการติดตามผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เกษตรกรได้ให้ความสนใจในการเข้าร่วมโครงการฯ เป็นอย่างมาก แต่ด้วยข้อจำกัดด้านบุคลากร เจ้าหน้าที่ รวมถึงวิทยากร ของโครงการฯ ที่มีน้อย ทำให้ไม่สามารถติดตามได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ เกษตรกรที่เข้ารับการอบรมได้ให้ความเห็นว่า อยากให้การอบรมเพิ่มระยะเวลาและเพิ่มหลักสูตรมากยิ่งขึ้น โดยเกษตรกรยังประสบปัญหาวัตถุดิบราคาแพง และขาดแหล่งน้ำในการทำเกษตร ดังนั้น จำเป็นต้องมีการบูรณาการร่วมกันในส่วนของหน่วยงานที่รับผิดชอบมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ เพื่อส่งเสริมและติดตามนิเทศงานได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะส่งผลให้โครงการฯ ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตเกษตรกรสมาชิกตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างแท้จริง
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--