กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าไฟเขียวงบประมาณปรับโครงสร้างสินค้ากาแฟ

ข่าวทั่วไป Thursday October 8, 2009 15:52 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยพร้อมปรับโครงสร้างสินค้ากาแฟ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โดยอนุมัติเงินกองทุนกว่า 54 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตและคุณภาพ เพิ่มมูลค่าสินค้า รวมทั้งส่งเสริมให้มีการแปรรูปสินค้ากาแฟ ตลอดจนพัฒนาธุรกิจกาแฟให้แก่สถาบันเกษตรกร

นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ได้อนุมัติเงิน 54 ล้านบาท เพื่อดำเนินการปรับโครงสร้างสินค้ากาแฟ

จากการที่ประเทศไทยได้จัดทำข้อตกลงการเปิดเสรีการค้าอาเซียน สำหรับสินค้าเกษตรซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2553 กาแฟเป็นสินค้าหนึ่งที่เกษตรกรไทยสามารถสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศในกลุ่มอาเซียนได้ คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ได้อนุมัติเงินกองทุนฯ สำหรับโครงการปรับโครงสร้างสสินค้ากาแฟแบบครบวงจร จำนวน 54.44 ล้านบาท เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพผลผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้ากาแฟ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการแปรรูปสินค้ากาแฟ และพัฒนาธุรกิจกาแฟให้แก่สถาบันเกษตรกร

โดยแยกเป็นเงินยืม 31.23 ล้านบาท ให้แก่สหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟจังหวัดชุมพร จำกัด กลุ่มเกษตรกรทำสวนเขาทะลุ จังหวัดชุมพร และกลุ่มเกษตรกรทำสวน จปร.จังหวัดระนอง เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการจัดซื้อการแฟสารผลิตเป็นกาแฟคั่วบด และกาแฟ 3 in 1 รวมทั้งการจัดซื้อกาแฟจากสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการในลักษณะ Contract Farming ตลอดจนเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างอาคาร โรงเรือน วัสดุอุปกรณ์ในการแปรรูปกาแฟ อีกส่วนคือเงินจ่ายขาด 23.21 ล้านบาท ให้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดความรู้ด้านการเพิ่มผลผลิตด้วยการตัดฟื้นต้น และทำสาว การจัดการดิน การลดต้นทุนการผลิต ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้านการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจแก่สถาบันเกษตรกร

ด้านนางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ยังได้ให้ความเห็นชอบแผนแม่บทกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พ.ศ.2553 — 2556 เพื่อใช้เป็นทิศทางการพัฒนากองทุนฯ โดยปรับปรุงทิศทางการขับเคลื่อนของกองทุนฯ ให้เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินงานเชิงรุก เพื่อให้เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบเข้าถึงแหล่งทุนด้วยความสะดวกและรวดเร็ว ด้วยการขยายกรอบการช่วยเหลือ ให้ครอบคลุมการช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบทุกกรอบข้อตกลง การสร้างโอกาสทางการตลาด การสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของสินค้าเกษตร ดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงระเบียบกองทุนฯ รวมทั้งเร่งรัด รณรงค์การประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับความพึงพอใจ และการดำเนินการกองทุนฯ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ