ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Friday October 9, 2009 14:43 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ภาวะตลาดสุกรในสัปดาห์นี้ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ประกอบกับสถานศึกษาเริ่มปิดภาคเรียน ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรอ่อนตัว แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัว

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 56.82 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 56.93 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.19 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 53.41 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 55.48 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 58.16 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 62.66 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,600 บาท (บวกลบ 56) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 54.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 55.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.80 และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 64.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 66.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 3.01

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาคเหนือความต้องการบริโภคมีมากขึ้นเพราะเข้าสู่ช่วงเทศกาลท่องเที่ยว ประกอบกับได้มีการควบคุมปริมาณการผลิตไก่เนื้อเพื่อให้สมดุลกับความต้องการบริโภค แนวโน้มคาดว่าราคาจะสูงขึ้น

กรมปศุสัตว์ แจ้งเตือนสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงช่วงรอยต่อของฤดูฝนกับฤดูหนาวทำให้สัตว์ปีกอ่อนแอและมีภูมิคุ้มกันลดลง ประกอบกับในช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายนของทุกปี จะมีนกอพยพจากรัสเซีย จีน เกาหลีและญี่ปุ่น เข้ามาอาศัยในประเทศไทย ซึ่งอาจนำเชื้อไข้หวัดนกเข้ามาแพร่ระบาดได้ เพื่อเป็นการป้องกันการระบาดของโรค กรมปศุสัตว์ได้ให้เจ้าหน้าที่และเครือข่ายเฝ้าระวังโรคลงพื้นที่ เพื่อเยี่ยมเกษตรกร ตรวจสุขภาพสัตว์ปีก พร้อมฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในจุดที่เสี่ยง หากพบสัตว์ปีกป่วยตายจากโรคไข้หวัดนกจะทำลายสัตว์ปีกโดยวิธีฝังกลบทันที เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกไป พร้อมให้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ป้องกันแก้ไขและเตรียมความพร้อมรับปัญหาโรคไข้หวัดนก และการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่อย่างเข้มงวด

สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยเผยปีนี้อุตสาหกรรมไก่ค่อนข้างดี ราคาทั้งในและต่างประเทศอยู่ในระดับน่าพอใจ คาดว่าการส่งออกไก่ปีนี้ประมาณ 4 แสนตันใกล้เคียงปีก่อน เพราะความต้องการของตลาดดีมาก โดยเฉพาะอียูส่งออกไปแล้วประมาณ 1.61 แสนตัน เกินโควตาที่ได้รับจัดสรร 1.60 แสนตัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างเจรจาขอโควตาเพิ่มแต่อาจเป็นไปได้ยาก เพราะถ้าเพิ่มให้ไทยก็ต้องเพิ่มให้รายอื่นด้วย ทั้งนี้หากมีการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีที่ผูกพันภายใต้กรอบ WTO สำหรับสินค้าสัตว์ปีก 8 รายการ ทำให้อียูกำหนดปริมาณนำเข้าไก่ส่วนที่เกินโควตาได้ ดังนั้นไทยควรเร่งเจรจาให้อียูเปิด FTA โดยเร็ว

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 40.25 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 39.01 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 3.18 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 43.05 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 39.03 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 39.38 บาท และภาคใต้ไม่มีรายงาน ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 16.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 41.50 บาท และราคาขายส่งไก่สดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 52.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณมากเพราะสภาพอากาศเอื้ออำนวย ความต้องการบริโภคลดลงเพราะสถานศึกษาต่าง ๆ เริ่มปิดภาคเรียน แนวโน้มคาดว่าราคาจะลดลง

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 239 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 256 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 6.84 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 237 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 244 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 231 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 259 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 26.00 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 28.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 7.14

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ย ร้อยฟองละ 245 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 255 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 3.92

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 282 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 283 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.29 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ ร้อยฟองละ 239 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 298 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 276 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 331 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 350 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 43.23 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 43.21 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.04 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 45.48 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 35.72 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 48.46 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 51.30 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 33.95 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 33.90 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.16 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 47.00 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 31.50 บาท ภาคกลาง32.69 บาท ภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ ข่าวสัปดาห์ 28 กันยายน - 4 ตุลาคม 2552--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ