สศข.7 เผยสามยุทธศาสตร์การพัฒนานิคมการเกษตร(ข้าว)เมืองสุพรรณบุรี

ข่าวทั่วไป Monday October 12, 2009 14:35 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 ชัยนาท ร่วมระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมเผยผลการศึกษา เนวทางการพัฒนาและบริหารจัดการนิคมการเกษตร(ข้าว)อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเน้นการผลิตให้ได้คุณภาพและมีมาตรฐาน สามารถครองอันดับหนึ่งในการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ

นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 (สศข.7)จังหวัดชัยนาท สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ความต้องการทางด้านพืชอาหารและพลังงานที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเพิ่มขึ้นของประชากร ทำให้รัฐบาลต้องเน้นการบริหารและจัดการ การผลิตในระดับพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาดโลกและเพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่การเป็นครัวของโลกได้

และเพื่อให้การทำงานดังกล่าวบรรลุเป้าหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 จึงเข้าไปศึกษาพื้นที่จัดตั้งนิคมการเกษตร(ข้าว) อำเภอสองพี่น้อง ด้วยการศึกษาสภาพพื้นที่และภาวะเศรษฐกิจสังคมของครัวเรือนเกษตรกรในพื้นที่โครงการ 5,000 ไร่ เพื่อวิเคราะห์ กำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางบริหารจัดการแบบบูรนาการร่วมกันของหน่วยงานระดับพื้นที่ในการพัฒนาและบริหารจัดการนิคมการเกษตรให้เกิดผลอย่างจริงจัง ด้วยการกำหนดยุทธ์ศาสตร์การพัฒนานิคมการเกษตรอำเภอสองพี่น้อง ดังนี้

1. ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างโอกาสในการแข่งขัน กลยุทธ์ที่ควรดำเนินการ ได้แก่ การส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี ที่มีคุณภาพมาตรฐาน การส่งเสริมการผลิตข้าวเพื่อการบริโภคที่มีคุณภาพ การส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้เป็นชาวนามืออาชีพ การเพิ่มพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน การวิจัยเครื่องทุ่นแรงทดแทนแรงงานภาคการเกษตร การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานการผลิต

2. ยุทธศาสตร์การยกระดับรายได้และสร้างเสถียรภาพด้านการตลาด กลยุทธ์ที่ควรดำเนินการ ได้แก่ การแปรรูปข้าวและการสร้างมูลค่าเพิ่ม การสนับสนุนเงินทุนในการสร้างวิสาหกิจชุมชน และการสร้างความร่วมมือระหว่างเกษตรกรกับโรงสี รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าว

3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร กลยุทธ์ที่ควรดำเนินการ ได้แก่ การส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ การลดต้นทุนการผลิต การสร้างจิตสำนึกให้เกษตรกรมีวินัยทางการเงิน การสร้างเกษตรกรให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในชุมชน

นายชวพฤฒ กล่าวทิ้งท้ายว่า การบริหารจัดการนิคมในลักษณะบูรณาการ ส่วนราชการรับผิดชอบหลักต้องมีผู้รับผิดชอบอย่างเต็มตัวและมีความคล่องตัวในประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งการของบประมาณที่หน่วยงานรับผิดชอบหลักเพียงหน่วยเดียว ไม่ควรกระจายขอตามหน่วยงานที่ร่วมโครงการ การส่งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานร่วมโครงการต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบโครงการโดยตรงและสามารถให้เวลาทำงานอย่างเต็มที่ จึงจะทำให้โครงการสำเร็จบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ