สศก.เผยผลสำรวจโครงการโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพชุมชน ปี 51

ข่าวทั่วไป Monday October 12, 2009 14:35 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลงพื้นที่ออกสำรวจเพื่อประเมินผลโครงการโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพชุมชนปี 2551 พบส่วนใหญ่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ทำการผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดและปั้นเม็ด ออกจำหน่ายสร้างรายได้ แนะโรงปุ๋ยแต่ละขนาดสามารถเพิ่มศักยภาพกำลังการผลิตได้มากขึ้น หากได้รับการดูแลอย่างจริงจัง

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยศูนย์ประเมินผล ได้ลงพื้นที่ออกสำรวจเพื่อประเมินผลโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ชุมชน ปี 2551 โดยการสุ่มตัวอย่างจังหวัดที่เป็นที่ตั้งโรงปุ๋ยตัวแทน พบว่าโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ฯ จำนวน 500 แห่ง เปิดดำเนินการผลิตแล้ว 489 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 98

โครงการดังกล่าว ดำเนินการสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ — ชีวภาพ ชุมชน โดยใช้งบบูรณาการจังหวัด (งบ CEO) จำนวน 497 โรง และงบของกรมพัฒนาที่ดินจำนวน 3 โรง ได้แบ่งขนาดโรงปุ๋ยเป็นโรงขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดจิ๋ว ครอบคลุมพื้นที่ 59 จังหวัด มีระยะเวลาดำเนินการปีงบประมาณ 2548 — 2551 เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพในชุมชน เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดรายจ่าย และรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตที่พึ่งพาการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีจากต่างประเทศ เป็นการพึ่งพาตนเองโดยการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และสารอินทรีย์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติตามนโยบายของรัฐบาล

สำหรับผลการประเมินพบว่า ส่วนใหญ่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ทำการผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด / ปั้นเม็ด ออกจำหน่าย มีมูลค่าขายรวม 277,000 บาท มีต้นทุนการผลิต 194,900 บาท มีรายได้จากการดำเนินงาน 82,000 บาท โดยสมาชิกกลุ่มมีรายได้จากโรงปุ๋ยจากการจ้างงานและเงินปันผล เฉลี่ยเป็นเงิน 1,660บาท และได้นำความรู้ไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้ภายในครัวเรือน ร้อยละ 98 เห็นว่าต้นทุนการผลิตพืชลดลง ปีละ 8,546 บาท เฉลี่ยไร่ละ 417 บาท ซึ่งก่อนมีโรงปุ๋ยสมาชิกร้อยละ 54.87 ไม่เคยใช้ปุ๋ยอินทรีย์มาก่อน แต่หลังสร้างโรงปุ๋ย สมาชิกร้อยละ 82.47 เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น และร้อยละ 11 เลิกใช้ปุ๋ยเคมีโดยเด็ดขาด

โดยสมาชิกตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเนื่องจากสามารถลดต้นทุนการผลิต และคุณภาพของดินดีขึ้น สมาชิกกลุ่มมีความพึงพอใจค่อนข้างมากต่อภาพรวมของโรงปุ๋ย ทั้งนี้ สศก. ได้ให้เสนอแนะว่าโรงปุ๋ยแต่ละขนาดมีศักยภาพเพิ่มกำลังการผลิตได้มากกว่านี้ หากได้รับการสนับสนุนงบประมาณเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการจัดซื้อวัตถุดิบ และปรับเปลี่ยนเครื่องมือ / อุปกรณ์เพื่อขยายปริมาณการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร เพื่อนำไปสู่วัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ