ความผาสุกเกษตรกรปี 52 เพิ่ม ชูผลดัชนีแตะร้อยละ 80

ข่าวทั่วไป Tuesday October 13, 2009 14:15 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ชูผลการศึกษาดัชนีความผาสุกของเกษตรกรปี 52 จากองค์ประกอบ 5 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ สุขอนามัย การศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม พบค่าดัชนีอยู่ที่ร้อยละ 79.59 จัดอยู่ในระดับการพัฒนาปานกลาง เพิ่มขึ้นจากปี 51 ร้อยละ 0.84

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษาดัชนีความผาสุกของเกษตรกรปี 2552 เพื่อวัดระดับความผาสุกของเกษตรกร จากองค์ประกอบ 5 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ สุขอนามัย การศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม รวม 16 ตัวชี้วัด พบว่า ในปี 2552 ค่าดัชนีความผาสุกของเกษตรกรมีค่าอยู่ที่ร้อยละ 79.59 ซึ่งจัดอยู่ในระดับการพัฒนาปานกลาง โดยค่าดัชนีเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ซึ่งมีค่าร้อยละ 78.75 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.84 อย่างไรก็ตามผลของการพัฒนาในแต่ละด้านพบว่ายังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากค่าดัชนีด้านสุขอนามัยและด้านสังคมอยู่ในระดับดีมาก แต่ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม อยู่ในระดับต้องปรับปรุง ส่วนด้านการศึกษา อยู่ในระดับต้องเร่งแก้ไข

โดยทางนางสุภาพร พิมลลิขิต รองเลขาธิการ สศก. กล่าวถึงรายละเอียดของผลการศึกษาว่า ในด้านเศรษฐกิจ ค่าดัชนีอยู่ในระดับร้อยละ 67.63 ลดลงจากปี 2551 ซึ่งจัดอยู่ในระดับที่จะต้องปรับปรุง ซึ่งตัวชี้วัดสำคัญที่มีค่าดัชนีต่ำ ได้แก่ รายได้ของครัวเรือนลดลง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดตกต่ำกว่าปี 2551 และสัดส่วนหนี้สินต่อทรัพย์สินของครัวเรือนซึ่งในปีนี้เกษตรกรมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ด้านสุขอนามัย มีค่าดัชนีระดับร้อยละ 98.11 ถือว่าจัดอยู่ในระดับการพัฒนาดีมาก เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายด้านคุณภาพอาหาร ส่งเสริมการให้บริการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างทั่วถึงมากขึ้น และมีที่อยู่อาศัยถูกสุขลักษณะเพิ่มขึ้น ด้านการศึกษา มีค่าดัชนีร้อยละ 57.85 เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 0.24 แต่ยังอยู่ในระดับต้องแก้ไข ตัวชี้วัดที่สำคัญคือ สมาชิกครัวเรือนเกษตรได้รับการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับมีจำนวนลดลง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ และภาระค่าครองชีพของเกษตรกร แต่แรงงานภาคเกษตรได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมมากขึ้น

สำหรับด้านสังคม พบว่า ค่าดัชนีจัดอยู่ในระดับที่ดีมาก คือมีค่าร้อยละ 92.03 เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 1.05 แต่ตัวชี้วัดด้านความภูมิใจในอาชีพลดลงเล็กน้อย เนื่องจากประสบภัยธรรมชาติ และได้รับผลกระทบจากราคาปัจจัยการผลิตที่สูง แม้สินค้าเกษตรบางชนิดมีราคาสูงขึ้น แต่ต้นทุนการผลิต และภาระค่าครองชีพของเกษตรกรก็ยังสูงเช่นเดิม อย่างไรก็ตามลักษณะทางสังคมของภาคเกษตร มีความอบอุ่น มีการรวมกลุ่ม และผู้สูงอายุได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคนในครัวเรือนเป็นอย่างดี นั่นแสดงให้เห็นว่าสังคมเกษตรมีความรักความสามัคคีสูง ด้านสิ่งแวดล้อม ค่าดัชนีมีค่าร้อยละ 66.52 เพิ่มขึ้นจากปี 2551 แต่ยังอยู่ในระดับต้องปรับปรุง มีตัวชี้วัดที่สำคัญคือ สัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ต่อพื้นที่ทั้งหมดของประเทศยังต่ำกว่าค่ามาตรฐาน รวมทั้งการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดินก็ต้องดำเนินการปรับปรุงพื้นที่เสื่อมโทรมของประเทศเพื่อให้เหมาะต่อการทำการเกษตรมากขึ้น

จากผลการศึกษา จึงกล่าวได้ว่าการดำเนินงานตามนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความผาสุกมากขึ้น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรต่อไป ทั้งการยกระดับรายได้ครัวเรือนเกษตร เพิ่มการออมของครัวเรือนเกษตร ลดสัดส่วนหนี้สินต่อทรัพย์สินครัวเรือนเกษตร และสนับสนุนให้สมาชิกครัวเรือนเกษตรได้รับการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดิน เป็นต้น รองเลขาธิการ กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ