พิษวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลแนวโน้มภาคการเกษตรชัยนาท ปี 52 ลด

ข่าวทั่วไป Thursday October 15, 2009 15:29 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 เผยผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจภาคเกษตรปี 52 ของจังหวัดชัยนาท ชี้ปัจจัยบวกสำคัญที่จะเป็นผลดีกับการผลิตและการค้าในภาคเกษตรคือ การดำเนินงาน และมาตรการของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 (สศข.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตรจังหวัดชัยนาทปี 2552 ซึ่งคาดว่าจะหดตัวลงจากปี 2551 ร้อยละ 6.35 โดยลดลงเกือบทุกสาขา คือ สาขาพืช ร้อยละ 7.23 สาขาปศุสัตว์ ร้อยละ 2.70 สาขาป่าไม้ร้อยละ 2.23 และสาขาบริการทางการเกษตรร้อยละ 10.07 ส่วนสาขาประมงขยายตัวร้อยละ 7.31 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจการเกษตรยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ ที่จะทำให้การเจริญเติบโตชะลอตัว โดยมีปัจจัยลบ คือภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยหลายชนิดมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่แม้จะมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 เรื่อยมาจนถึงกลางปี 2552 ราคาน้ำมันกลับเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจึงยังคงมีความผันผวน และจะทำให้ราคาพืชพลังงานทดแทนมีแนวโน้มอ่อนตัวลง

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจภาคเกษตร ปี 2551 ของจังหวัดชัยนาทมีการเจริญเติบโตได้ดี ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร มีอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ (ปี 2546) ประมาณร้อยละ 4.95 โดยสาขาที่มีการขยายตัว คือ สาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 6.50 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณข้าวเปลือก ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอันดับหนึ่งของจังหวัด และสาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 13.46 ขยายตัวตามกิจกรรมการผลิตข้าว ที่ใช้บริการทางการเกษตรมากขึ้น ส่วนสาขาที่มีแนวโน้มหดตัวลงคือ สาขาประมง ร้อยละ 7.43 สาเหตุมาจากการลดลงของการเลี้ยงปลาในกระชัง สาขาปศุสัตว์ หดตัวลงร้อยละ 6.83 เนื่องจากการผลิตสุกรและโค ลดลง และสาขาป่าไม้ หดตัวลงร้อยละ 49.25 เนื่องจากการผลิตไม้เศรษฐกิจลดลงเช่นกัน

ด้านดัชนีราคาผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตรจังหวัดชัยนาท ปี 2551 เท่ากับ 259.67 สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 107.54 จากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพืชผลการเกษตรที่สำคัญ คือ ข้าวเปลือก เนื่องจากตลาดมีความต้องการอย่างต่อเนื่องทั้งการบริโภคภายในและการส่งออก ประกอบกับผลของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ที่ดึงอุปทานส่วนเกินของตลาด ส่งผลให้ดัชนีราคาข้าวเปลือกปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 145.66 สำหรับสินค้าเกษตรอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่ดัชนีราคาเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ สาขาปศุสัตว์ เช่น สุกร ไก่เนื้อ และสาขาประมง

นายชวพฤฒ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามในปี 2552 ยังมีปัจจัยบวกสำคัญที่จะเป็นผลดีกับการผลิตและการค้าในภาคเกษตร คือ การดำเนินงาน และมาตรการของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ที่จะช่วยสนับสนุนการผลิตทางการเกษตร เช่น โครงการประกันรายได้พืชผลทางการเกษตร เป็นมาตรการแทรกแซงราคา ที่เป็นไปตามกลไกตลาด แทนโครงการการรับจำนำ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ