ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Friday October 16, 2009 14:40 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ภาวะตลาดสุกรในสัปดาห์นี้ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบกับสถานศึกษาเริ่มปิดภาคเรียน ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรอ่อนตัว แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัว

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 55.98 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 56.82 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.48 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 53.23 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 54.58 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 56.90 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 61.68 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,600 บาท (บวกลบ 56) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 53.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 54.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.83 และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 63.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 64.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.55

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา แนวโน้มคาดว่าราคาจะสูงขึ้น

ผลจากการระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 และโรคนิวคาสเซิล ทำให้กลุ่มสหภาพยุโรปหรือEU ได้ออกกฎระเบียบใหม่เพื่อใช้ในการรองรับสัตว์ปีกภายใต้ระบบคอมพาร์ตเมนต์ ซึ่งจะบังคับใช้ในสมาชิกของEU ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไป ขณะที่กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างจากฟาร์มในระบบคอมพาร์ตเมนท์ในอุตสาหกรรมสัตว์ปีก โดยได้เฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการในฟาร์มที่อยู่ระหว่างการรับรองสถานภาพปลอดโรคให้สุ่มเก็บตัวอย่าง Cloacal Swab โรงเรือนละ 20 ตัว ทุกโรงเรือน ทุกรอบการผลิต และสุ่มเก็บตัวอย่างเลือดโรงเรือนละ 20 ตัว ทุกโรงเรือน ปีละ 2 ครั้ง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และสิงหาคม ส่วนฟาร์มที่รักษาสถานภาพปลอดโรคให้เก็บตัวอย่าง Cloacal Swab โรงเรือนละ 5 ตัว 4 โรงเรือนต่อฟาร์ม โดยเก็บรอบเว้นรอบการผลิต ตัวอย่างเลือดให้สุ่มเก็บโรงเรือนละ 5 ตัว 4 โรงเรือนต่อฟาร์ม ปีละ 2 ครั้ง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และสิงหาคม ทางด้านการเฝ้าระวังในพื้นที่กันชนให้สุ่มเก็บตัวอย่าง Cloacal Swab จาก 4 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 5 ตัว โดยเก็บในเดือนกุมภาพันธ์ พฤษภาคม สิงหาคม และพฤศจิกายนของทุกปี และ สุ่มเก็บตัวอย่างเลือดจากพื้นที่เดียวกัน จำนวนเท่ากันในเดือนกุมภาพันธ์และสิงหาคมของทุกปี ด้านห้องปฏิบัติการให้ทำการตรวจหาเชื้อโรคไข้หวัดนกและโรคนิวคาสเซิลจากตัวอย่าง Cloacal Swab ทุกตัวอย่าง และตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัดนกจากตัวอย่างเลือดที่เก็บจากฟาร์มคอมพาร์ตเมนต์และพื้นที่กันชน ส่วนการตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันของโรคนิวคาสเซิล ให้ตรวจเฉพาะตัวอย่างเลือดที่เก็บจากพื้นที่กันชนเท่านั้น อย่างไรก็ตามระบบคอมพาร์ทเมนท์จะมีประโยชน์ในการพัฒนาฟาร์มมาตรฐานสัตว์ปีกให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพเป็นมาตรฐานเดียวกัน และรักษาสถานภาพปลอดโรคไข้หวัดนกในฟาร์มสัตว์ปีกที่เลี้ยงในเชิงธุรกิจอีกทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการคุ้มครองผู้บริโภค

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 39.57 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 40.25 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.69 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 41.52 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 39.03 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 38.62 บาท และภาคใต้ไม่มีรายงาน ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 16.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 41.50 บาท และราคาขายส่งไก่สดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 52.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณมากเพราะสภาพอากาศเย็นเอื้ออำนวยต่อผลผลิตไข่ไก่ ความต้องการบริโภคลดลงเพราะสถานศึกษาต่าง ๆ เริ่มปิดภาคเรียน แนวโน้มคาดว่าราคาจะลดลง

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 234บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 239 ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.55 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 233บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 242 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 220 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 268 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 26.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ย ร้อยฟองละ 245 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 283 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 282 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.52 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ ร้อยฟองละ 251 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 294 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 278 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 334 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 350 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 43.02 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 43.23 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.48 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 45.48 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 36.00 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 47.08 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 51.30 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 33.95 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 47.00 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 31.50 บาท ภาคกลาง32.69 บาท ภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 5 - 11 ตุลาคม 2552--

-พห-

แท็ก เกษตรกร   สุกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ