ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Thursday October 29, 2009 14:09 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สัปดาห์นี้ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณสุกรที่ออกสู่ตลาดมีมาก ในขณะที่อยู่ในช่วงเทศกาลกินเจและเกิดภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือลดลง

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 55.51 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 55.87 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.64 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 53.05 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 54.75 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 55.81 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 60.84 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,600 บาท (บวกลบ 56) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 52.50 บาท และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 61.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการบริโภคลดลง เพราะอยู่ในระหว่างเทศกาลกินเจ ประกอบกับสถานศึกษาต่างๆ อยู่ในช่วงปิดภาคเรียน แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือลดลง

กรมปศุสัตว์ รายงานสถานการณ์จากข่าวไก่พื้นเมืองป่วยตายเป็นจำนวนมาก ในพื้นที่อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ได้ให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ลงพื้นที่ตรวจสอบและเข้าควบคุมโรคทันทีพบว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ทำให้ไก่พื้นเมืองที่เลี้ยงแบบปล่อยเกิดความเครียดอ่อนแอป่วยเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหารร่วมกับติดเชื้อแบคทีเรียส่งผลให้สัตว์ปีกป่วยตายได้ ซึ่งผลตรวจยืนยันยังไม่พบเชื้อไวรัสโรคไข้หวัดนก ทั้งนี้เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงนี้เป็นรอยต่อระหว่างฤดูฝนและฤดูหนาวทำให้อากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสภาพอากาศเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้หวัดนกประกอบกับมีนกอพยพมาจำนวนมาก กรมปศุสัตว์ได้มีหนังสือขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้เข้มงวดตรวจสอบการดำเนินงานตามมาตรการควบคุม ป้องกันโรคไข้หวัดนกในระดับพื้นที่ โดยใช้การดำเนินงานของเครือข่ายการเฝ้าระวังโรค มีอาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เป็นผู้ดูแลตรวจสอบสัตว์ปีกป่วยตายและเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือสัตวแพทย์จะเข้าควบคุมโรคทันทีหากมีโรคเกิดขึ้น และจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านให้เข้มงวดมิให้มีการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและซากสัตว์ปีกตามแนวชายแดนด้วย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 39.37 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 39.59 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.56 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 40.52 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 39.33 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 38.51 บาท และภาคใต้ไม่มีรายงาน ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 16.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 40.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 41.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.41 และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 52.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ไข่ไก่ในสัปดาห์นี้ราคาเกษตรกรขายได้ลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการบริโภคลดลง เพราะอยู่ในระหว่างเทศกาลถือศีลกินเจ ประกอบกับสถานศึกษาต่างๆ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไข่ไก่ปิดภาคเรียน แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือปรับตัวลดลง

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 227 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 233 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.90 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 228 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 238 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 210 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 266 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 24.00 บาท ลดลงจากตัวละ 26.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 7.69

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ย ร้อยฟองละ 227 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 235 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 3.40

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 283 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ ที่ผ่านมา โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 251 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 295 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 278 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 328 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 350 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 43.53 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 43.47 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.14 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 45.91 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 36.23 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 48.46 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 51.30 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 34.43 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 49.00 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 31.72 บาท ภาคกลาง 32.69 บาท ภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 19 - 25 ตุลาคม 2552--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ