1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา(26 ก.ย. — 2 ต.ค. 2552) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 949.62 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 548.20 ตัน สัตว์น้ำจืด 401.42 ตัน ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 2.34 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 4.04 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 103.20 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 3.57 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 69.96 ตัน
การตลาด
สหภาพยุโรปตรวจเข้มการส่งออกสินค้าประมง
นายอดิศร พร้อมเทพ อัครราชทูตที่ปรึกษา(ฝ่ายการเกษตร) สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรปให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าทางอียูศึกษาถึงผลกระทบจากการนำมาตรการ IUU มาบังคับใช้ ผลปรากฏว่าประเทศผู้ส่งออกส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อนและมีแนวโน้มว่าผู้นำเข้าในสหภาพยุโรปเองจะไม่พอใจกับมาตรการนี้ ทั้งนี้มาตรการจะระบุชัดเจนว่า สินค้าประมงที่ส่งออกมายังตลาดสหภาพยุโรปจะต้องมีใบรับรอง การจับสัตว์น้ำที่ออกโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบของประเทศเจ้าของสัญชาติ(ประเทศเจ้าของธง) ของเรือประมงที่ใช้จับสัตว์น้ำกำกับมาด้วย เพื่อรับรองว่าการจับสัตว์น้ำดังกล่าวได้กระทำถูกต้องตามกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรการการอนุรักษ์และการบริหารจัดการระดับนานาชาติ ที่สำคัญแผนการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำดังกล่าวจะครอบคลุมทั้งสินค้าประมงแปรรูปและไม่แปรรูป ยกเว้น สัตว์น้ำจืด ปลาสวยงาม สินค้าสัตว์น้ำที่มาจากการเพาะเลี้ยง ซึ่งเกิดมาจากลูกสัตว์น้ำหรือตัวอ่อนหรือหอยสองฝาบางชนิด ไทยเป็นประเทศที่มีการทำประมงในระดับชาวบ้านมีเรือเล็ก เรือน้อย ดังนั้น หากจะต้องออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ กรมประมงจะต้องออกถึง 1 ล้านใบ ซึ่งถือว่าทำยากมาก แต่ทางกรมประมงซึ่งมีการหารือร่วมกับอียูมาหลายครั้งจะพยายามออกใบรับรองให้ได้ ส่วนท่าทีอียูจนถึงขณะนี้ยังยืนยันจะบังคับใช้ระเบียบนี้ อย่างไรก็ตามระเบียบนี้ไม่กระทบกับการส่งออกกุ้งของไทย เนื่องจากได้รับการยกเว้น ถึงวันนี้ผู้ประกอบการของไทยที่อยู่ในวงจรที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าเกษตรไปสหภาพยุโรป จำเป็นต้องตระหนักถึงกฎระเบียบเหล่านี้ และให้ความร่วมมือในการไม่ส่งสินค้าที่มีสารตกค้างเกินมาตรฐานที่อียูกำหนด เพราะอียูจะตรวจทุก 4 เดือน ถ้าหากมีการตรวจพบอาจส่งผลให้มีการตรวจเข้มกว่าเดิมได้
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 42.56 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 42.20 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.36 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคาจากองค์การสะพานปลากรุงเทพฯ
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 63.75 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 66.39 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 2.64 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯเฉลี่ยกิโลกรัมละ 114.29 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ110.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 4.29 บาท
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 103.49 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 104.47 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.98 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 100.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 55.32 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 56.11 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.79 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 70.57 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 70.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.57 บาท
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้ ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 121.43 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 120.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.43 บาท
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.98 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 8.07 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.09 บาท
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 17 — 22 ต.ค. 2552) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 30.93 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 32.60 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.67 บาท
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 19 - 25 ตุลาคม 2552--