โครงการสายใยรักฯ จันทบุรีผ่านฉลุย สมาชิกครัวเรือนเป็นอยู่ดีขึ้น

ข่าวทั่วไป Thursday October 29, 2009 15:56 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศข.6 ชูผลการดำเนินการเปรียบเทียบผลประเมินก่อน-หลังโครงการสายใยรักแห่งครอบครัวฯ ในพื้นที่บ้านดงจิก จังหวัดจันทบุรี เผยสภาวะของครัวเรือนสมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ มีรายได้เฉลี่ยต่อปี 240,119 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 20.52

นายธวัชชัย ประยูรสิน รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 (สศข.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินการเปรียบเทียบผลประเมินก่อน-หลังโครงการสายใยรักแห่งครอบครัวฯ ในพื้นที่บ้านดงจิก ตำบลทับไทร อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี พบว่า ครัวเรือนสมาชิกมีรายได้เฉลี่ยต่อปี 240,119 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มโครงการร้อยละ 20.52 โดยรายได้ภาคการเกษตรและรายได้นอกการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.86 และ 15.02 ตามลำดับ และสมาชิกมีรายจ่ายเงินสดเฉลี่ยต่อปีครัวเรือนละ 254,764 บาท ลดลงร้อยละ 1.38 โดยรายจ่ายภาคการเกษตรลดลงร้อยละ 20.18 เนื่องจากเกษตรกรลดการใช้สารเคมีและหันมาใช้สารชีวภาพมากขึ้นทำให้ช่วยประหยัดต้นทุนการผลิต ส่วนค่าใช้จ่ายครัวเรือนปรับสูงขึ้นร้อยละ6.23 เนื่องจากภาวะราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น

หลังโครงการสมาชิกมีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายครัวเรือน เฉลี่ยครัวเรือนละ 180,850 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.66 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากรายได้เงินสดทางการเกษตรสูงถึงร้อยละ 92.50 เนื่องจากปีที่ผ่านมาราคาลำไยอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนรายได้เงินสดนอกการเกษตรก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.93 เช่นกัน เนื่องจากสมาชิกส่วนหนึ่งรับซื้อ รวบรวมผลผลิตของหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อขายส่งตลาดทำให้มีระดับรายได้นอกการเกษตรที่เพิ่มขึ้น ครัวเรือนมีรายได้สุทธิติดลบลดลงร้อยละ 75.39 เนื่องจากมีรายได้เงินสดทั้งจากภาคเกษตรและนอกภาคการเกษตรรวมทั้งมูลค่าผลผลิตในครัวเรือนนำมาบริโภคเพิ่มขึ้นกว่าก่อนโครงการ

ด้านทรัพย์สินพบว่ามีเฉลี่ยครัวเรือนละ 1,415,918 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.35 โดยเพิ่มขึ้นทั้งทรัพย์สินในการเกษตร และทรัพย์สินนอกการเกษตร ร้อยละ 0.74 และ 11.95 ตามลำดับ แต่ทรัพย์สินหมุนเวียนลดลงร้อยละ 28.62 ด้านหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ 160,377 บาท ลดลงร้อยละ 11.60 โดยลดลงทั้งจากหนี้ในระบบ และหนี้นอกระบบ ร้อยละ 3.83 และ 40.82 ตามลำดับ เนื่องจากสมาชิกขายผลผลิตได้ราคาดีจึงเกิดการชำระหนี้มากขึ้น และเป็นทิศทางที่ดีว่าหนี้นอกระบบปรับตัวลดลงอย่างมาก ส่งผลให้มีสัดส่วนหนี้สินต่อทรัพย์สินครัวเรือนเท่ากับ 0.113 กล่าวคือครัวเรือนสมาชิกมีแนวโน้มมีหนี้สินลดลง และมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งจะเห็นได้ว่า สภาวะของครัวเรือนสมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ

          ด้านเกษตรสมบูรณ์เพิ่มพูนสุขภาพแม่ลูก ครัวเรือนสมาชิกสามารถใช้ประโยชน์จากผลผลิตทางการเกษตรนี้เพื่อขาย บริโภค/เก็บกิน แจกจ่าย/ให้ฟรี  และขาย ในสัดส่วนร้อยละ 48.25, 34.30  และ 17.45  ตามลำดับ           ส่วนด้านอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ครัวเรือนสมาชิกมีสัดส่วนกำไรต่อต้นทุนเท่ากับ 0.27  ซึ่งยังถือว่ามีกำไรเพียงเล็กน้อย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้สอบถามถึงความต้องการสมาชิกในโครงการเพื่อจัดกิจกรรมสร้างเสริมอาชีพต่อไป

สำหรับความพึงพอใจ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับมาก ได้แก่ การได้บริโภคผลผลิตเกษตรที่มีความปลอดภัยมากขึ้น และมีปริมาณอาหารที่ผลิตได้เองมาบริโภคเพิ่มขึ้น ทำให้ประหยัดรายจ่ายค่าอาหาร การได้รับความรู้/คำแนะนำจากการอบรมจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ที่ได้รับความช่วยเหลือ ส่วนความพึงพอใจส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับปานกลาง ได้แก่ ความกระตือรือร้นเอาใจใส่ในการให้บริการ ความรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมสนับสนุนปัจจัยการผลิตด้านต่าง ๆ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ