สศข. 6 รุกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มะม่วงสู่การปฏิบัติ

ข่าวทั่วไป Friday November 6, 2009 15:46 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 เดินหน้าร่วมกับหน่วยงานภายนอกจัดทำยุทธศาสตร์แนวทางพัฒนามะม่วง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนามะม่วงของภาคตะวันออก เผยปี 54 มีโครงการสำคัญที่จะดำเนินการตามยุทธศาสตร์หลายโครงการ ที่ประชุมชี้หากดำเนินการได้ตามแผนจะสามารถรักษาพื้นที่การผลิตมะม่วงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นายธวัชชัย ประยูรสิน รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 (สศข. 6) จังหวัดชลบุรี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 ได้ดำเนินการบูรณาการการปฏิบัติงานภายในสศข.6 กับหน่วยงานภายนอกโดยสำรวจจัดเก็บข้อมูลปริมาณการผลิต ต้นทุนการผลิต และทำการศึกษาห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์มะม่วง พร้อมทั้งจัดทำเป็นยุทธศาสตร์แนวทางการพัฒนามะม่วง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนามะม่วงของภาคตะวันออก ซึ่งมีการนำเสนอยุทธศาสตร์แนวทางการพัฒนามะม่วงดังกล่าวกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ไปเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี โดยร่วมให้ข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นในหลายประเด็น ซึ่ง สศข.6 ก็ได้นำข้อคิดเห็นไปปรับปรุงยุทธศาสตร์ดังกล่าว

จากนั้น สศข.6 ได้นำยุทธศาสตร์ดังกล่าวเสนอคณะทำงานจัดทำแผนงาน/โครงการบูรณาการด้านการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 เพื่อจัดทำแผนงาน/โครงการ เพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุนจากงบประมาณพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัดในปี 2554 ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวให้ประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียด ในวันที่ 14 ตุลาคม 2552

จากการผลักดันตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว มีแผนงาน/โครงการในการพัฒนามะม่วงที่เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณพัฒนาจังหวัดในปี 2554 หลายโครงการ เช่น โครงการจดทะเบียนผู้ปลูกมะม่วงทั้งรายใหญ่ รายย่อย โครงการสำรวจศักยภาพของดิน โครงการฟื้นฟูสวนมะม่วงเสื่อมโทรม โครงการจัดตั้งสถาบันมะม่วง โครงการศึกษาผลตอบแทนการผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก โครงการสนับสนุนอุปกรณ์ควบคุมบรรยากาศ

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากงบประมาณกลุ่มจังหวัดในปี 2554 เช่น โครงการจัดทำเว็บไซด์การผลิตการค้ามะม่วงของกลุ่มจังหวัด โครงการจัดประชุมเพื่อจัดทำตลาดการค้าแบบมีพันธสัญญา (Contract Farming) ระหว่างผู้ประกอบการส่งออกกับองค์กร/สถาบันเกษตรกรผู้ผลิตมะม่วง ซึ่งจากประชุมดังกล่าว ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตมะม่วงทั้งจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออกจังหวัดฉะเชิงเทรา และสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา ต่างให้ความเห็นว่าถ้าหากภาครัฐสามารถขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์ที่เสนอไว้จะสามารถทำให้รักษาพื้นที่การผลิตมะม่วงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ในวิสัยทัศน์ที่ว่า “สร้างจุดขาย ขยายตลาด เพิ่มความสามารถกลุ่ม” และจะส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนมะม่วงในจังหวัดฉะเชิงเทราและใกล้เคียงยืนหยัดอยู่ได้อย่างยั่งยืน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ