ไอเดียเงาะนอกฤดูชาวสวนชะอวด ดันราคาสูงกว่าปกติ 10 เท่า

ข่าวทั่วไป Friday November 6, 2009 15:48 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ชาวสวนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตเงาะท่าเรือ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ปิ๊งไอเดีย พัฒนาเทคนิคจัดการระบบน้ำ ผลิตเงาะนอกฤดู ปลอดสาร เผย ขายได้ราคากิโลกรัมละ 80-120 บาท สูงกว่าในฤดูถึง 10 เท่า หวังเพิ่มคุณภาพให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการ และรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลัง สศก. ลงพื้นที่ประเมินผลแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ปี 2552 ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม ที่ผ่านมา ในพื้นที่ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตเงาะท่าเรือ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ พบว่า ในพื้นที่ได้ดำเนินการเพาะปลูกเงาะนอกฤดูกาล ซึ่งมีรสชาติดี หอมหวาน และปลอดภัยจากสารเคมี โดยจะให้ผลผลิตประมาณปลายเดือนตุลาคมถึงธันวาคมนี้ ซี่งบางส่วนที่เก็บเกี่ยวแล้ว สามารถขายได้ราคาสูงถึงประมาณกิโลกรัมละ 80-120 บาท นับว่าสูงกว่าราคาเงาะตามฤดูกว่า 10 เท่า นอกจากนี้ ยังช่วยกระจายผลผลิตเงาะและมังคุดที่ออกในฤดูปกติ ออกนอกพื้นที่ประมาณ 45 ตัน ไปยังตลาดต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ จึงนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของชาวสวนผลไม้ที่จะบริหารจัดการผลผลิตให้ได้ ราคาดี

จากการสัมภาษณ์ชาวสวนเงาะอำเภอชะอวด พบว่า ได้มีการริเริ่มพัฒนาวิธีการทำสวนเงาะโรงเรียนแบบใหม่ให้ออกผลผลิตนอกฤดู โดยใช้การจัดการระบบน้ำ เพื่อบังคับให้เงาะออกดอกประมาณเดือนมิถุนายน ซึ่งจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงนอกฤดู โดยชาวสวนสามารถดูแลรักษาสวนเงาะโดยใช้เทคนิคการกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสานตามแนวทาง GAP เช่น การป้องกันราแป้งโดยใช้เชื้อราไตรเดอร์มา น้ำส้มควันไม้ หรือ ฮอร์โมนไข่ เป็นต้น ซึ่งในอนาคต คาดว่าสมาชิกทุกรายจะลดการใช้สารเคมี เพื่อพัฒนาสวนเงาะไปสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การผลิตเงาะนอกฤดู จะต้องมีการบำรุงรักษาเป็นอย่างมาก ดังนั้น กลุ่มชาวสวนในพื้นที่ตำบลประจะ และชะอวด จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตเงาะท่าเรือเมื่อปี 2551 เป็นต้นมา เพื่อบริหารด้านการผลิตและการตลาด รวมถึงการหาทางลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด อีกทั้งสร้างความเข้มแข็งของระบบการผลิตการตลาดเงาะ ให้ชาวสวนได้มีอำนาจในการต่อรองและขายผลผลิตได้ราคาที่คุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งปัจจุบันกลุ่มชาวสวนมีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งยังเป็นแหล่งเชื่อมโยงงานพัฒนาการศึกษาวิจัยการผลิตการตลาดเงาะและไม้ผลอื่นๆ ระหว่างเกษตรกร ภาคเอกชน นักวิจัย และนักวิชาการด้วย เพื่อร่วมสร้างความยั่งยืนและขยายผลให้ชาวสวนผลไม้ต่อไป

รองเลขาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเงาะนอกฤดูของอำเภอชะอวดนั้น หากมีการพัฒนาเทคนิคเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคในประเทศและผู้ส่งออกได้รู้จักเงาะนอกฤดูของชะอวด ก็จะสามารถช่วยให้การผลิตมีความยั่งยืนและเกิดการขยายผลไปสู่ผลไม้อื่นๆ ซึ่งเป็นการช่วยแก้ปัญหาผลไม้ล้นตลาดได้อีกทางหนึ่งด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ