สศข.10 เดินสายจัดทำประชาคมร่างยุทธศาสตร์ข้าวจังหวัดสมุทรสงคราม ปี 2553- 2556 ให้เป็นรูปธรรม โดยแปรสภาพจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ดันมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 2.3 เท่า คาด ผลผลิตแปรรูปเป็นข้าวสารจะมีมากกว่า 60 ล้านบาทในจังหวัด
นายอนุสรณ์ พรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 10 จังหวัดราชบุรี (สศข.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติระดับจังหวัดครั้งที่ 3/2552 ของสมุทรสงคราม มีมติให้จัดทำยุทธศาสตร์ข้าวจังหวัดสมุทรสงคราม ปี 2553- 2556 เมื่อวันพุธที่ 5 สิงหาคม 2552 เพื่อให้การจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวจังหวัดสมุทรสงครามเป็นไปด้วยถูกต้องครบถ้วน สู่แนวทางการพัฒนาส่งเสริมการผลิต การตลาด รวมถึง เป็นการบูรณาการของหน่วยงานทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา สศข. 10 ได้นำร่างยุทธศาสตร์ข้าวไปจัดทำประชาคม ซึ่งสาระสำคัญของร่างยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มมูลค่าข้าว การพัฒนาตลาดในจังหวัด และการส่งเสริมการรวมกลุ่มและเครือข่าย โดยผลการทำประชาคม พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจ พร้อมทั้งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่ต้องประสบ เช่น ค่าเช่าที่นาในอัตราที่สูง ปัญหาการไม่มีลานตาก โรงอบ และยุ้งฉาง รวมถึงได้ให้ข้อเสนอแนะด้านความต้องการพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ และการตั้งโรงสีแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งข้อเสนอแนะต่างๆ เหล่านี้ ทาง สศข.10 จะร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือ นำไปปรับปรุงแผนงานและโครงการในยุทธศาสตร์ให้สอดคล้อง ตรงตามความต้องการของเกษตรกรยิ่งขึ้นต่อไป
สำหรับจังหวัดสมุทรสงคราม แม้จะมีพื้นที่ปลูกข้าวไม่มากนัก อันเนื่องมาจากปัญหาเรื่องดินเค็ม แต่ข้าว ก็นับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด โดยแหล่งปลูกที่สำคัญ คือ ตำบลแพรกหนามแดง และตำบลวัดประดู่ ซึ่งอยู่ในเขตอำเภออัมพวา มีพื้นที่ในเขตชลประทานและสามารถปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง ทั้งนี้ คาดว่า ผลที่ได้รับจากการนำยุทธศาสตร์ข้าวมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าวโดยแปรสภาพจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร จะทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 2.3 เท่า โดยปัจจุบันข้าวเปลือกมีราคาประกันขั้นต่ำ ราคาเกวียนละ 10,000 บาท แต่เมื่อแปรสภาพเป็นข้าวสารจะมีมูลค่าสูงถึงเกวียนละ 23,100 บาท ซึ่งมูลค่าผลผลิตข้าวเปลือกจังหวัดสมุทรสงครามนั้นมีจำนวน 26,280,000 บาท ดังนั้น หากนำข้าวเปลือกมาแปรรูปเป็นข้าวสารจะมีมูลค่าถึง 60,705,750 บาท อันจะทำให้ชุมชนมีความมั่นคงด้านอาหาร เกษตรกรมีอาหารที่ปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดก็จะสูงขึ้นด้วยเช่นกัน นายอนุสรณ์ กล่าว
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--