1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
เร่งฟื้นฟูพื้นที่เลี้ยงกุ้งกุลาดำกว่า 1.4 พันไร่
นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองอธิบดีและโฆษกกรมพัฒนาที่ดินเปิดเผยว่า ปัญหาการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในเขตน้ำจืด ทำให้พื้นที่ข้างเคียงมีปริมาณเกลือสูงขึ้น เกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม ทำให้เกิดน้ำเค็ม ระบบนิเวศเกิดความเสียหาย ป่าชายเลนเสื่อมโทรม นากุ้งถูกทิ้งร้าง และเกิดความขัดแย้งในการใช้น้ำและการใช้ประโยชน์จากที่ดิน โดยที่ผ่านมากรมพัฒนาที่ดินได้เข้าไปดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ในภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดนครนายก นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และฉะเชิงเทรา ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง ตราด และปราจีนบุรี ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา สงขลา สตูล ตรัง และพัทลุง โดยการเข้าไปสำรวจความต้องการของเกษตรกร ในการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากนากุ้งมาเป็น การปลูกพืชอื่นแทน แล้วทำการสำรวจจัดทำแผนที่ออกแบบต้นร่างโครงสร้างใหม่ที่จะทำการฟื้นฟูให้สอดคล้องกับศักยภาพของที่ดินและความต้องการของเกษตรกร โดยทำการยกร่อง เพื่อปลูกไม้ผล พืชไร่ พืชผัก หรือจัดทำ แปลงนา เพื่อการปลูกข้าว รวมทั้งขุดบ่อน้ำ เพื่อสำรองน้ำหรือเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตามแนวทฤษฎีใหม่ พร้อมทั้งปรับปรุงแก้ไขความเค็มของดิน ปรับโครงสร้างทางกายภาพของดิน โดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ในอัตราที่เหมาะสม เพื่อเป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และปลูกหญ้าแฝก ป้องกันการพังทลายของดินรอบขอบบ่อ ขณะนี้ได้ดำเนินการ ไปแล้ว 9,808 ไร่ ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ประมาณ 873 ราย สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปี 2553 กรมพัฒนาที่ดินจะดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่เลี้ยงกุ้งกุลาดำเพิ่มขึ้นอีก 1,400 ไร่ เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถผลิตพืชเศรษฐกิจทดแทนได้ต่อไป
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา( 31 ต.ค.- 6 พ.ย. 2552) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 971.32 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 555.38 ตัน สัตว์น้ำจืด 415.94 ตัน ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 2.38 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 4.17 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 101.66 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 7.35 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 70.60 ตัน
การตลาด
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 41.95 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 41.91บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.04 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคาจากองค์การสะพานปลากรุงเทพฯ
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 65.81 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 65.05 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.76 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯเฉลี่ยกิโลกรัมละ 114.29 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ110.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 4.29 บาท
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 104.66บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 103.15 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.51 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 108.57 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 105.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 3.57 บาท
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 58.42บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 56.89 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.53 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 70.86 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 70.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.86 บาท
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้ ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 114.29 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 110.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 4.29 บาท
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.48 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 8.46 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.02 บาท
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 21-27 พ.ย. 2552) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 30.21 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 28.26 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.95 บาท
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 23 - 29 พฤศจิกายน 2552--