1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
INFOFISH เล็งไทยดันขึ้นเป็นผู้นำในการผลิตสัตว์น้ำอินทรีย์ส่งตลาดโลก
กรมประมง พยายามผลักดันและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหันมาให้ความสำคัญการทำฟาร์มแบบอินทรีย์ โดย INFOFISH ให้การสนับสนุนมุ่งหวังให้ไทยเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกสินค้าสัตว์น้ำประเภทออแกนิกส์ ก่อนขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
นางนิรชา วงษ์จินดา ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ประมง ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ตรวจสอบรับรองมาตรฐานฟาร์มและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำอินทรีย์กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของเกษตรอินทรีย์ โดยในส่วนของกรมประมง ได้ส่งเสริม สนับสนุนให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดสายการผลิต เล็งเห็นถึงประโยชน์และผลดีของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์ เนื่องจากในปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลก เริ่มหันมาสนใจให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ดังนั้น อาหารประเภทอินทรีย์ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ อาหารธรรมชาติ อาหารปลอดสารพิษทั้งหลาย จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของประชาชน ด้วยเหตุนี้เอง การเกษตรแบบอินทรีย์ จึงได้เกิดขึ้นและมีการผลักดันให้เกิดยุทธศาสตร์อินทรีย์ของประเทศ ด้วยมุ่งหวังให้กระบวนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศมีมาตรฐานการจัดการที่ดี มีการรักษาสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถพัฒนาคุณภาพผลิตผลและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้า สัตว์น้ำของประเทศสู่สากล อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมของผู้ผลิตให้ดีขึ้นด้วย
ในเรื่องดังกล่าวนี้ กรมประมงในฐานะหน่วยงานซึ่งมีภารกิจรับผิดชอบในเรื่องของการวิจัยพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงได้ลงพื้นที่ให้ความรู้จัดการฝึกอบรมเกษตรกร ให้เข้าใจถึงการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบอินทรีย์ กระทั้งในขณะนี้มีเกษตรกรหลายรายประสบความสำเร็จสามารถส่งออกสัตว์น้ำอินทรีย์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ดีระดับหนึ่ง
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา( 14 — 20 พ.ย. 2552) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,102.02 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 652.39 ตัน สัตว์น้ำจืด 449.63 ตัน ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 2.55 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 3.86 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 111.00 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 6.45 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 100.11 ตัน
การตลาด
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 44.03 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 42.54 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.49 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคาจากองค์การสะพานปลากรุงเทพฯ
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 69.45 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 68.84 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.61 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯเฉลี่ยกิโลกรัมละ 110.00 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ110.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 4.29 บาท
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 109.56 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 108.70 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.86 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 113.00 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 115.83 บาท ของสัปดาห์ก่อน 2.83 บาท
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 58.79 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 59.11 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.32 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 75.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 73.57 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.43 บาท
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้ ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 114.29 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.46 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 8.33 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.13 บาท
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 5 - 11 ธ.ค. 2552) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 30.90 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 7 - 13 ธันวาคม 2552--