ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Thursday December 17, 2009 13:42 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดสุกรในสัปดาห์นี้ ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณสุกรที่ออกสู่ตลาดใกล้เคียงกับความต้องการบริโภค ขณะที่ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะเข้าสู่เทศกาลเฉลิมฉลองในช่วงปลายปี และเทศกาลท่องเที่ยว แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 55.47 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 55.54 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.13 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 53.16 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 53.80 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 56.42 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 60.78 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,800 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 56.50 บาท และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 67.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณไก่เนื้อที่ออกสู่ตลาดลดลงและใกล้เคียงกับความต้องการบริโภค ขณะที่ความต้องการบริโภคไก่เนื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะเข้าสู่ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองคริสต์มาส ปีใหม่ และเทศกาลท่องเที่ยว แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือสูงขึ้นเล็กน้อย

สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผยว่า ในปีนี้การส่งออกไก่ปรุงสุกยังสามารถส่งออกได้ดี โดยในช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม) ปี 2552 การส่งออกลดลงเพียงร้อยละ 1 และตลาดหลักยังคงเป็นตลาดญี่ปุ่นและยุโรป ที่มีสัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 95-96 ของการส่งออกทั้งหมด ที่เหลืออีกร้อยละ 4-5 เป็นตลาดรายย่อย เช่น ฮ่องกง ส่วนทั้งปี 2552 คาดว่าการจะมีปริมาณ 3.94 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 5.2 หมื่นล้านบาท ลดลงร้อยละ 1 จากปีก่อน ส่วนปี 2553 คาดว่าจะส่งออกได้ใกล้เคียงกับปีนี้ทั้งปริมาณและมูลค่า เนื่องจากตลาดหลักอย่างยุโรปจำกัดโควตาการนำเข้าเพียงปีละ 1.6 แสนตัน แม้ว่าไทยจะมีกำลังที่จะขยายการส่งออกได้ก็ทำได้ในตลาดเล็กๆ ที่มีกำลังซื้อน้อย ซึ่งการเจรจาขอขยายโควตาโดยตรงทำได้ยาก อาจจะต้องดำเนินการผ่านช่องทางการเปิดตลาดเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-อียู แทน ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งของไทยได้ดำเนินการไปแล้ว นอกจากนี้ในช่วงครึ่งปีหลังประเทศญี่ปุ่นที่เป็นตลาดหลักของไทยอีกแหล่งหนึ่ง เริ่มมีการนำเข้าไก่สุกจากประเทศจีนมากขึ้น เนื่องจากมีราคาถูกกว่าการนำเข้าไก่จากไทยที่มีต้นทุนสูง แต่อย่างไรก็ตามไก่ของไทยก็ยังคงได้เปรียบในเรื่องของมาตรฐานด้านความสะอาดและคุณภาพ ทำให้มีตลาดใหม่ เช่น ฮ่องกง มีการนำเข้าไก่ปรุงสุกจากไทยเพิ่มขึ้น สำหรับการส่งออกสินค้าอาหารแปรรูปในภาพรวมปีนี้ คาดว่าจะส่งออกได้มูลค่า 1.4-1.5 แสนล้านบาท ลดลงร้อยละ 10-11 เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจทำให้กำลังซื้อของประเทศผู้นำเข้ายังไม่ฟื้น อย่างไรก็ตามในปี 2553 คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวเป็นบวก ร้อยละ 5-6 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 40.99 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 40.98 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.02 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 42.52 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 39.77 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 41.13 บาท และภาคใต้ไม่มีรายงาน ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 16.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 40.50 บาท และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 51.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศเย็นเอื้ออำนวยต่อผลผลิตไข่ไก่ที่มีมากขึ้น ขณะที่ความต้องการบริโภคไข่ไก่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะเข้าสู่ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองคริสต์มาส ปีใหม่ และเทศกาลท่องเที่ยว แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 247 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 250 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.12 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 248 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 263 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 239 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 259 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 26.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 265 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 280 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 282 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.66 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 256 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 290 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 275 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 316 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 350 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 43.79 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 43.48 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.72 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 46.62 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 37.11 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 48.46 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 49.77 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 34.28 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 34.87 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.70 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 50.40 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 31.25 บาท ภาคกลาง 32.69 บาท ภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 7 - 13 ธันวาคม 2552--

-พห-

แท็ก เกษตรกร   สุกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ