สศก. เผยผลกระทบภาวะเงินเฟ้อต่อรายได้ของครัวเรือนเกษตรไทย

ข่าวทั่วไป Monday December 28, 2009 13:23 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยผลการศึกษาภาวะเงินเฟ้อต่อรายได้และเงินออมของครัวเรือนเกษตรช่วง 4 — 5 ปีที่ผ่านมา ชี้หากอัตราเงินเฟ้อไม่เกินร้อยละ 5.9 รายได้ของเกษตรกรจะสูงขึ้นทันกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อ และแม้ปัจจุบันเกษตรกรยังต้องพึ่งพารายได้จากนอกภาคเกษตรอยู่ แต่รายได้จากการประกอบกิจกรรมทางการเกษตรมีสัดส่วนที่สูงขึ้นกว่าแต่ก่อน แนะควรมีนโยบายยกระดับรายได้ของเกษตรกรทั้งจาก ภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรให้สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มครัวเรือนประเภทฟาร์มที่มีรายได้น้อย

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากระดับของอัตราเงินเฟ้อที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.9 และผลจากโครงการประกันรายได้จะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้และมีเงินออมสูงขึ้นกว่าเมื่อระยะ 4 — 5 ปีที่ผ่านมา แต่หากอัตราเงินเฟ้อสูงมากกว่าในระยะที่ผ่านมา (ร้อยละ 2.7-5.9) อาจจะเกิดปัญหารายได้เติบโตไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อได้

นอกจากนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่า แม้ในปัจจุบันเกษตรกรยังคงต้องพึ่งพารายได้จากนอกภาคเกษตรอยู่ แต่รายได้จากการประกอบกิจกรรมทางการเกษตรมีสัดส่วนที่สูงขึ้นกว่าแต่ก่อน และจากการวิเคราะห์ค่าความยืดหยุ่นของรายได้กับเงินออมยังพบว่า นอกจากจะมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันแล้ว เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของเงินออมยังสูงกว่าเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของรายได้อีกด้วย

เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า ในปี 2552 / 53 รัฐบาลได้เริ่มดำเนินโครงการประกันรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง โดยกำหนดราคาประกันเท่ากับต้นทุนการผลิต บวกค่าขนส่ง และกำไรที่ควรได้รับ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ในปีต่อ ๆ ไปหากภาครัฐยังคงดำเนินโครงการประกันรายได้ให้กับเกษตรกรและระดับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันไม่สูงเท่าที่เคยเป็นมาในระยะก่อน ๆ ก็คาดหวังได้ว่าเกษตรกรจะมีรายได้ที่สูงขึ้น รวมทั้งหากเกษตรกรไม่เปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อการครองชีพ ก็จะทำให้เกษตรกรมีเงินออมเหลือเก็บมากขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกษตรกรได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อน้อยที่สุด จึงมีข้อเสนอแนะว่า ภาครัฐควรมีนโยบายยกระดับรายได้ของเกษตรกรทั้งจากภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรให้สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มครัวเรือนประเภทฟาร์มที่มีรายได้น้อย เช่น ฟาร์มผสม ฟาร์มข้าว และฟาร์มปศุสัตว์ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการออม ก็จะเป็นนโยบายที่ส่งเสริมการออมของเกษตรกรได้ในระยะยาว ในขณะเดียวกัน ธกส. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเงินลงทุน ควรสนับสนุนการให้เงินกู้เพื่อการลงทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกทางหนึ่ง เลขาธิการ สศก. กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ