ข้อตกลงใหม่การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กับภาคเกษตร

ข่าวทั่วไป Monday January 4, 2010 14:02 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศครั้งที่ 15 และพิธีสารเกียวโต ครั้งที่ 5 เมื่อต้นเดือนธันวาคม ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ แนะ เร่งเตรียมจัดทำข้อมูลก๊าซเรือนกระจกเพื่อเตรียมความพร้อมและให้ข้อมูลแก่เกษตรกร

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศครั้งที่ 15และพิธีสารเกียวโต ครั้งที่ 5 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-18 ธันวาคม 2552 ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เพื่อให้ได้ข้อสรุปความร่วมมือระยะยาวเกี่ยวกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของโลก การแบ่งความรับผิดชอบ การปรับตัว กลไกทางการเงิน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งการกำหนดพันธกรณีของประเทศพัฒนาแล้วในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลังปี 2012 ซึ่งได้ดำเนินการพิจารณามา 2 ปี แล้ว แต่เนื่องจากประเด็นการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัว มีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้แต่ละกลุ่มประเทศต่างพยายามรักษาผลประโยชน์ของตน ทำให้การเจรจาไม่สามารถหาข้อยุติได้ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ใช้ “ ข้อตกลงโคเปนเฮเกน” หรือ “Copenhagen Accord” ซึ่งเป็นผลจากการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของผู้นำระดับสูง เป็นทางออกชะลอจนกว่าจะได้ข้อยุติ เสนอต่อที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 16 ซึ่งกำหนดจะจัดที่ประเทศเม็กซิโก ในสิ้นปี 2010 เพื่อให้มีผลผูกพันทางกฎหมาย

สาระสำคัญของข้อตกลงโคเปนเฮเกนมีเพียงการกำหนดเป้าหมายที่จะรักษาระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส และให้ประเทศพัฒนาแล้วกำหนดเป้าหมายความต้องการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายในปี 2020 ส่วนประเทศกำลังพัฒนาให้กำหนดการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามความสมัครใจ รวมทั้งจัดตั้งกองทุน Copenhagen green Fund เพื่อใช้ดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในประเทศกำลังพัฒนา

สำหรับภาคเกษตรได้มีการเจรจาในประเด็นความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย ที่เกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลการเจรจาได้ข้อยุติ 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก เรื่องหลักการความร่วมมือ จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร วิถีชีวิตชุมชน เกษตรกรรายย่อย คนพื้นเมืองและภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเด็นที่สอง เรื่องการจัดทำโปรแกรมการทำงาน เพื่อกำหนดกรอบในการดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังได้พิจารณาในประเด็นเรื่องการห้ามไม่ให้ใช้มาตรการฝ่ายเดียวด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า ซึ่งประเด็นนี้ที่ประชุมมีมติไม่พิจารณา เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในการเจรจากลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มความร่วมมือ กลุ่มการลดก๊าซ เป็นต้น อย่างไรก็ตามข้อตกลงภาคเกษตรยังไม่มีผลทางกฏหมาย เนื่องจากการเจรจาในกรอบใหญ่ไม่ได้ข้อยุติ

แม้ว่าข้อตกลงโคเปนเฮเกนจะกำหนดแนวทางการดำเนินงานในภาพรวมแล้วและยังไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย รวมทั้งยังไม่พาดพิงภาคเกษตรโดยตรง แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรเร่งเตรียมจัดทำข้อมูลก๊าซเรือนกระจกและเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมในการจัดทำโปรแกรมการทำงาน รวมทั้งแนวทางในการลดการปล่อยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัว ตลอดจนต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกร บูรณาการการทำงาน รวมทั้งจัดทำแผนงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต รองเลขาธิการ กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ