สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เดินสายลงพื้นที่ 4ภาคทั่วประเทศ เปิดเวทีสาธารณะชี้แจงและทำความเข้าใจ แก่เกษตรกร ในการเตรียมพร้อมรับมือการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA ที่เริ่มขึ้น พร้อมเตรียมสรุปผลรายงานต่อคณะทำงานเฉพาะกิจฯ เพื่อปรับปรุงมาตรการทางการค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ให้แก่เกษตรกร เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยในช่วงเดือนธันวาคม 2552 ได้เดินสายจัดสัมมนาและเปิดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากการเปิดตลาดสินค้าเกษตรเขตการค้าเสรีอาเซียนขึ้นใน 4ภาคของประเทศ โดยภาคกลาง จัดที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ภาคเหนือ จัดที่ อ.เมือง จ.เชียงราย ภาคะวันออกเฉียงเหนือ จัดที่ อ.เมือง จ.หนองคาย และภาคใต้ จัดที่ อ.เมือง จ.กระบี่
ในส่วนสาระสำคัญของการจัดสัมมนานั้น เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และชี้แจงถึงมาตรการรับมือในสินค้าเกษตร 23 รายการ อาทิ น้ำนมดิบ นมพร้อมดื่ม นมผงขาดมันเนย หอมหัวใหญ่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และเมล็ดถั่วเหลือง เป็นต้น ซึ่งสินค้าเกษตรเหล่านี้จะต้องยกเลิกโควตา และ ลดภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 (ยกเว้น มันฝรั่ง เมล็ดกาแฟ และเนื้อมะพร้าวแห้ง ที่จัดเป็นสินค้าอ่อนไหว และยังคงอัตราภาษีนำเข้าที่ร้อยละ 5)ซึ่งการสัมมนาจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็นและประสบการณ์จากตัวแทนเกษตรกร และตัวแทนภาคเอกชน ในแต่ละจังหวัด โดยผลจากการจัดสัมมนาทั้ง 4 ภาค สศก. จะดำเนินการสรุปผลเพื่อรายงานต่อคณะทำงานเฉพาะกิจด้านมาตรการสินค้าเกษตรภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน สำหรับใช้ในการติดตามและปรับปรุงมาตรการทางการค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน และจัดทำเป็นเอกสารเผยแพร่ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องต่อไป
อย่างไรก็ตาม จากผลการจัดสัมมนาทั้ง 4 ภาค พบว่า เกษตรกรและผู้ประกอบการ เห็นว่าภาคเกษตรของไทยมีความพร้อมในระดับหนึ่ง สามารถพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพการแข่งขันได้ เพื่อให้ไทยได้เปรียบทางการค้ากับต่างประเทศ โดยต้องมีการสนับสนุนจากภาครัฐในด้านต่างๆ เช่น การจัดหาแหล่งน้ำ พัฒนา ระบบชลประทาน การพัฒนาพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศให้ผลผลิตสูง ทนต่อโรคระบาด แมลงศัตรูพืช และไม่ให้มีเมล็ดพันธุ์ปลอมปน รวมถึงการควบคุมราคาปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยาปราบวัชพืช ยากำจัดศัตรูพืช เพื่อลดต้นทุน และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกร ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผลผลิต ตลอดจนส่งเสริมการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มและหลากหลาย ให้สนองความต้องการตลาด ทั้งนี้ สศก. จะได้เร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ การเปิดเสรีสินค้าเกษตรในกรอบอาเซียน ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อตรียมความพร้อมรับมือสู้ศึกอาฟตาทั้งในเชิงรับและเชิงรุกให้ทันต่อสถานการณ์
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--