ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Tuesday January 19, 2010 13:20 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ภาวะตลาดสุกรในสัปดาห์นี้ยังคงคล่องตัว ในสัปดาห์นี้ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณสุกรที่ออกสู่ตลาดลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรได้ปรับลดกำลังการผลิต ขณะที่ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรเริ่มมีมากขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา แนวโน้มคาดว่าราคาจะสูงขึ้น

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 56.68 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 56.28 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.71 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 55.80 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 53.06 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 58.49 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 59.91 บาท ส่วนราคา ลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,900 บาท สูงขึ้นจากตัวละ 1,800 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 5.56

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 57.50 บาท และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 68.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ตลาดไก่เนื้อยังคงคึกคัก ในสัปดาห์นี้ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณไก่เนื้อออกสู่ตลาดน้อย น้ำหนักไก่เนื้อที่จับออกมีไม่มาก ขณะที่ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มคาดว่าราคาจะสูงขึ้น

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หารือกับเกษตรกรผู้เลี้ยงและผู้ส่งออกไก่ เพื่อเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านให้เปิดตลาดไก่สดให้ไทยมากขึ้น ซึ่งประเทศที่มีความต้องการมากที่สุด คือ กัมพูชาที่มีกำลังซื้อมากขึ้น จากการพัฒนาเศรษฐกิจและการขยายตัวของการลงทุน รองลงมา คือ มาเลเซีย และเวียดนาม ในปี 2553 เป้าหมายส่งออกไก่มีปริมาณ 4 แสนตัน มูลค่า 53,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 4-5 แยกเป็นไก่แปรรูป 3.8 แสนตัน และไก่สด 2 หมื่นตัน ทำให้อัตราการผลิตได้ในปี 2553 คาดว่าจะมีประมาณ 1,053 ล้านตัว เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2552 ที่ผลิตได้ 1,000 ล้านตัว ทั้งนี้จากที่ประเทศไทยมีมาตรการควบคุมและเฝ้าระวังหวัดนกที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีการพบเชื้อติดต่อกันมานานพ้นระยะเวลาที่องค์การควบคุมโรคระบาดสัตว์หรือ โอไออีกำหนดไว้ โดยไทยจะขอให้ยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าจากสาเหตุไข้หวัดนก คาดว่าจะพิจารณาทบทวนประกาศดังกล่าวใหม่ และในปีนี้มีการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรกรมากขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ มีการขยายตัวมาก ความต้องการของผู้บริโภคเนื้อสัตว์จึงเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการควรจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดใหม่ หันมาให้ความสำคัญกับตลาดอาเซียนและเพื่อนบ้านมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนขนส่ง นอกจากนี้จะมีการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านให้เปิดตลาดสินค้าไข่ไก่ เนื้อสุกร และสุกรมีชีวิต ให้กับไทยด้วย เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนตลาดจากเดิมไว้ระบายสินค้าช่วงราคาตกต่ำเป็นการขายสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้นแทน

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 42.46 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 42.08 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.90 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 44.52 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 41.17 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 42.26 บาท และภาคใต้ไม่มีรายงาน ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ18.50 บาท สูงขึ้นจากตัวละ 16.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 12.12

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 45.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 40.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 12.35 และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 57.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 51.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 11.76

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดไข่ไก่ในสัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมีมากเกินความต้องการบริโภค โดยเฉพาะภาคกลางซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงใหญ่ ราคาปรับตัวลดลงร้อยละ 8.18 ทั้งนี้เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงเทศกาลการท่องเที่ยวและเฉลิมฉลองปีใหม่ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมไปท่องเที่ยวต่างพื้นที่ ทำให้ผลผลิตส่วนเกินออกสู่ตลาดมาก ส่งผลให้ราคาลดต่ำลง แนวโน้มคาดว่าราคาจะลดลง

ทั้งนี้ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์มีแผนจะช่วยเหลือผู้เลี้ยงไก่ไข่ ด้วยการรณรงค์ให้คนหันมาบริโภคไข่ไก่มากขึ้น โดยดำเนินการเชื่อมตลาดสดและโมเดิร์นเทรด ในการจำหน่ายไข่ไก่เพื่อระบายผลผลิตในแต่ละวันออกไป

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 228 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 240 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 4.89 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 236บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 269 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 202 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 273 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 22.00 บาท ลดลงจากตัวละ 24.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 8.33

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ย ร้อยฟองละ 225 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 235 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 4.26

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 284 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 282 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.51 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 255 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 293 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 277 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 341 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 340 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 44.37 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 44.31 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.13 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 47.49 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 34.52 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 47.87 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 52.10 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 34.96 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 34.90 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.17 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 52.40 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 31.74 บาท ภาคกลาง 32.69 บาท ภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 11 - 17 มกราคม 2553--

-พห-

แท็ก เกษตรกร   สุกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ