ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Wednesday January 27, 2010 13:43 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สัปดาห์นี้ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากมีความเสียหายจากโรคระบบทางเดินหายใจ (PRRS) ส่งผลให้ปริมาณสุกรออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรมีมากขึ้น แนวโน้มคาดว่าราคาจะสูงขึ้นตามความต้องการบริโภคที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 57.19 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 56.68 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.90 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 56.60 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 54.16 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 58.76 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 59.55 บาท ส่วนราคา ลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,900 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 58.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 57.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.74 และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 69.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 68.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.46

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ไก่เนื้อในสัปดาห์นี้ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการบริโภคยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปริมาณไก่ใหญ่ออกสู่ตลาดน้อย ดังนั้นคาดว่าราคาจะยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นตามความต้องการบริโภคที่จะเพิ่มขึ้นอีกในช่วงเทศกาลตรุษจีน

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 อินเดียพบเชื้อไข้หวัดนกระบาดอีกครั้ง หลังพบการระบาดครั้งสุดท้ายเมื่อ 8 เดือนก่อน โดย High Security Animal Diagnostic Laboratory ตรวจสอบพบเชื้อไข้หวัดนกในตัวอย่างที่ได้จากสัตว์ปีกเสียชีวิตจากเมือง Murshidabad ในแคว้น West Bengal ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ฆ่าสัตว์ปีกกว่า 3,200 ตัวที่อยู่ในรัศมี 3 กิโลเมตรจากจุดพบเชื้อดังกล่าวแล้ว โดยพบในหมู่บ้าน 23 แห่งซึ่งมีประชากรสัตว์ปีกจำนวน 40,266 ตัว และได้รับการป้องกันจากเชื้อดังกล่าวแล้ว 36,514 ตัว อย่างไรก็ตาม อินเดียพบรายงานการติดเชื้อครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 ที่เมือง Uttar Dinajpur แคว้น West Bengal และเพิ่งแจ้งต่อ WTO ว่าเป็นประเทศที่ปลอดเชื้อดังกล่าวเมื่อ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 43.71 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 42.46 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 2.94 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 48.05 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 40.70 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 43.62 บาท และภาคใต้ไม่มีรายงาน ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ18.50 บาท สูงขึ้นจากตัวละ 16.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 12.12

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 45.50 บาท และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 57.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ภาวะตลาดไข่ไก่ยังคงซบเซา ในสัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมีมากเกินความต้องการบริโภค ประกอบกับยังคงมีสต็อกไข่ไก่คงเหลือ ส่งผลให้ราคายังคงปรับลดลง แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือปรับตัวลดลง

มติ ครม. เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 เรื่อง ปัญหาราคาไข่ไก่และแนวทางแก้ไข คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ที่เกิดจากปัญหาผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาด ในระยะเร่งด่วน ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

1.ด้านการตลาด ขยายตลาดรองรับผลผลิตไข่ไก่ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ โดยรณรงค์ให้มีการเพิ่มการบริโภคไข่ไก่ ผ่านกระทรวงที่กำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดกว้างขวาง ที่สามารถรณรงค์ให้มีการบริโภคไข่ไก่เพิ่มขึ้นได้จำนวนมาก ประกอบด้วย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ โดยรับซื้อไข่ไก่จากเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่โดยตรง ในราคา ณ แหล่งผลิต ตามภาวะตลาด เป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน ภายในช่วงเดือนมกราคม — กุมภาพันธ์ 2553 เพื่อให้เกษตรกรสามารถระบายไข่ไก่ส่วนเกินได้อย่างน้อยจำนวนวันละ 1,000,000 ฟอง โดยกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานกลางในการประสานเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานราชการกับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่

2.ด้านการผลิต เร่งรัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2553 ให้ลดกำลังการผลิต โดยขอความร่วมมือผู้ผลิตไก่ไข่พันธุ์และผู้เลี้ยงไก่ไข่ขนาด 100,000 ตัวขึ้นไป ชะลอการนำลูกไก่เข้าเลี้ยง และปลดแม่ไก่ยืนกรงเร็วขึ้นก่อนอายุการปลดปกติที่ 78 สัปดาห์

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 223 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 228 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 2.28 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 217บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 264 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 200 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 263 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 22.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 225 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 281 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 284 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.79 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 251 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 293 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 274 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 331 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 340 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 45.26 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 44.37 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.02 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 47.14 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 37.62 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 50.95 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 52.82 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 34.98 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 34.96 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.17 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 52.40 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 31.77 บาท ภาคกลาง 32.69 บาท ภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 18-24 มกราคม 2553--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ