สศก. จับมือ GTZ ปั้นโครงการผลิตปาล์มน้ำมันฯ ศึกษาค่า GHG

ข่าวทั่วไป Thursday January 28, 2010 14:59 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมกับ สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) จัดทำโครงการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเพื่อพลังงานอย่างยั่งยืน เพื่อศึกษาและคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันที่เหมาะสมกับประเทศไทย ตั้งแต่การผลิตถึงการแปรรูปเป็นพลังงานในรูปไบโอดีเซล

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ส่งผลให้นานาประเทศทั่วโลก หันมาให้ความ สนใจกับการใช้พลังงานทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้น้ำมันไบโอดีเซลทดแทนน้ำมันดีเซล ซึ่งน้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบที่มีราคาต่ำที่สุดในการนำมาใช้ผลิตไบโอดีเซล (B100)เมื่อเทียบกับน้ำมันพืช เช่น ถั่วเหลือง ทานตะวัน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตปาล์มน้ำมัน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ประเทศไทย จึงได้มีการขยายพื้นที่ปลูกอย่างรวดเร็ว ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่าการผลิตน้ำมันปาล์มอาจส่ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการบุกรุกทำลายป่า รวมถึงสนับสนุนให้มีการทำงานในสภาพที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการผลิตและการใช้น้ำมันปาล์มในประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จึงร่วมกับ สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ)จัดทำโครงการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เพื่อพลังงานอย่างยั่งยืน มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้มีการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน และส่งผล กระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยการศึกษาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GREEN HOUSE GAS : GHG)ของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ตลอดจนห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่การผลิตปาล์มน้ำมันถึงการแปรรูปเป็นน้ำมันปาล์มรวมไปถึงการนำไปผลิตเป็นพลังงานทดแทนในรูปไบโอดีเซล ซึ่งความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในการศึกษาครั้งนี้เพื่อจัดทำ วิธีการคำนวณค่าGHGของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันที่เหมาะสมกับประเทศไทย หาแนวทาง และมาตรการใน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มทั้งระบบ รวมทั้งการสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องการปล่อย GHGแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจทั่วไป

และเพื่อให้การศึกษานั้นเป็นไปอย่างถูกต้องและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของประเทศไทย จึงมีการตั้งคณะทำงานขึ้น 2ชุด ได้แก่ คณะที่ปรึกษา ซึ่งอยู่ภายใต้ข้อตกลงในการปฏิบัติการร่วมกัน หรือ Implementing Agreement (IA) และคณะทำงานด้านเทคนิค โดยคณะที่ปรึกษาโครงการฯ ประกอบด้วย สมาคม โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม สมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย สมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม สมาคมผู้ ผลิตไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ สำนักงานความร่วมทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) โดยคณะที่ปรึกษามีหน้าที่ ติดตามผล การดำเนินการโครงการ ให้คำปรึกษาแนะนำแก่คณะทำงานด้านเทคนิค เพื่อให้วิธีการคำนวณสอดคล้องกับข้อเท็จจริง ของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน

สำหรับคณะทำงานด้านเทคนิค ประกอบด้วย หน่วยงานต่างๆ อาทิ Joint Graduate School of Energy and Environment (JGSEE) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (PSU) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU) สถาบันสิ่งแวดล้อม ไทย (TEI) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และสำนักงานความร่วมทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ)โดยมีหน้าที่ ปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ตามแผนงาน เช่น ลงพื้นที่สำรวจ และเก็บ ข้อมูล ทำการตรวจวัด ทดสอบ วิเคระห์ตัวอย่างในห้องปฏิบัติการ วิเคราะห์ข้อมูล และรายงานผล เป็นต้น

โดยนายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) กล่าวว่า การ ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นในทุกกิจกรรมการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ทั้งการคมนาคมขนส่ง การทำการเกษตร การ ผลิตสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค เนื่องจากมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงเป็นพลังงานในรูปแบบต่างๆ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการ ส่งเสริมให้ใช้พลังงานชีวภาพอย่างไบโอดีเซลเพิ่มมากขึ้น เพราะถือเป็นแหล่งพลังงานสะอาด แต่กระบวนการผลิตไบโอ ดีเซลเองก็ยังมีส่วนในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน นับตั้งแต่การปลูกปาล์มน้ำมัน การหีบน้ำมัน และการผลิต ไบโอดีเซลที่ล้วนต้องใช้ไฟฟ้าและพลังงานเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต อีกทั้งยังผลิตน้ำเสียที่เป็นแหล่งปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ ดังนั้นการศึกษาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันปาล์มของประเทศ ไทย จึงเป็นโครงการที่จะพัฒนาวิธีการคำนวณค่าการปลดปล่อยก๊าซที่เหมาะสมกับประเทศไทย และทำให้ทราบถึง ปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันปาล์ม เพื่อนำไปหามาตรการส่งเสริมการลดและรักษาระดับก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้อยู่ในระดับปลอดภัยอย่างยั่งยืนต่อไป

ด้านนางวิวรรณ บุณยประทีปรัตน์ เลขาธิการสมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มประเทศไทย กล่าวว่า “ปาล์ม น้ำมันนับเป็นวัตถุดิบสำคัญอย่างหนึ่งที่ใช้ผลิตไบโอดีเซล และเป็นพลังงานชีวภาพที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐให้มีการใช้เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของพื้นที่การปลูกปาล์มนั้น ก็มีส่วนในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การบำรุงดินหรือใส่ปุ๋ยในปริมาณที่มากเกินไปก็เป็นปัจจัยที่ทำให้มีการปลดปล่อยก๊าซเรือน กระจกในปริมาณที่มากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้การเพาะปลูกปาล์มน้ำมันและการแปรรูปเป็นน้ำมันเพื่อบริโภคตลอดจนผลิต ไบโอดีเซลเป็นไปอย่างยั่งยืนและ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทางสมาคมฯ จึงมีความยินดีที่จะเข้าร่วมดำเนิน โครงการฯ เพื่อศึกษาว่า อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มมีส่วนในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยเพียงใด เพื่อหาแนวทางในการลดปริมาณการ ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพและสร้างความรู้ความเข้าใจ ที่ถูกต้องให้กับสมาชิกในเรื่อง การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย”

นอกจากนี้ มร. ดาเนียล เมย์ ผู้อำนวยการโครงการการผลิตน้ำมันปาล์มเพื่อพลังงานชีวภาพอย่างยั่งยืน สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) กล่าวว่า “การผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและผ่านการ รับรองมาตรฐานตามความต้องการของตลาด เป็นวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินโครงการการผลิตน้ำมันปาล์มเพื่อพลังงานชีวภาพอย่างยั่งยืน และในอนาคตยังมีเป้าหมายที่จะส่งออกน้ำมันปาล์ม ไปยังตลาดในสหภาพยุโรป ดังนั้น กระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มจึงควรผ่านมาตรฐานการผลิตอย่างยั่งยืนตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งครอบคลุมถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น โครงการศึกษาการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของประเทศไทย จึงถือเป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการฯ ที่มีความสำคัญเพราะจะทำให้ทราบ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปลดปล่อยออกมาจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มตลอดห่วงโซ่การผลิตที่เหมาะสมกับประเทศไทย และเพื่อรองรับข้อกำหนดเกี่ยวกับการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสหภาพยุโรปดังกล่าวได้ อีกทั้งยังเป็น ประโยชน์ต่อภาครัฐเพื่อหามาตรการ หรือ นโยบาย มาสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของประเทศไทยในการลด ปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย

สำหรับ GTZ นับเป็นสำนักงานตัวแทนของรัฐบาลเยอรมัน ที่ดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยปฏิบัติ ภารกิจในนามของกระทรวงต่างๆ ภายใต้รัฐบาลเยอรมัน รัฐบาลของประเทศต่างๆ และองค์กรนานาชาติ อาทิ สหภาพ ยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย รวมทั้งบริษัทเอกชนต่างๆ ในประเทศไทย GTZ ได้เข้ามาดำเนินงานเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ