สศข.7 เผยผลการดำเนินโครงการประกันรายได้จังหวัดสิงห์บุรีและอ่างทอง

ข่าวทั่วไป Thursday January 28, 2010 15:00 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 ชัยนาท เผยผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้จังหวัดสิงห์บุรีและอ่างทอง พบเกษตรกรส่วนใหญ่พึงพอใจ พร้อมเสนอให้เพิ่มอ้อยโรงงานในโครงการประกันรายได้อีกชนิดหนึ่ง ชี้ควรประชาสัมพันธ์โครงการล่วงหน้าเพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนและเตรียมการก่อนที่โครงการจะเริ่ม

นางจันทร์ธิดา มีเดช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 จังหวัดชัยนาท สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลในพืชเศรษฐกิจหลักสำคัญได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ในจังหวัดสิงห์บุรีและอ่างทอง พบว่า มีเกษตรกรจดทะเบียนเข้าร่วมโครงการดังนี้ จังหวัดสิงห์บุรี มีเกษตรกรเข้าร่วม 13,373 ราย ทำสัญญากับ ธกส.จำนวน 12,071 ราย คิดเป็นร้อยละ 90 ส่วนจังหวัดอ่างทองมีเกษตรกรเข้าร่วมจำนวน 12,843 ราย ทำสัญญากับ ธกส.จำนวน 9,958 ราย คิดเป็นร้อยละ 78

ซึ่งจากการสุ่มตัวอย่างเกษตรกรเพื่อติดตามประเมินผลความพึงพอใจจากผลการดำเนินโครงการประกันรายได้ของจังหวัดสิงห์บุรีและอ่างทอง ของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรชุดที่ 28 ที่มีนางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขต 2 เป็นประธาน ในด้านทัศนคติความพอใจโครงการ สามารถสรุปผลการดำเนินงานได้ดังนี้

1. ความพอใจต่อโครงการของเกษตรกรที่สุ่มสำรวจของจังหวัดสิงห์บุรีมีความพอใจโครงการร้อยละ 62 จังหวัดอ่างทองพอใจร้อยละ 64

2. ความพอใจต่อกระบวนการดำเนินงานโครงการประกันรายได้ทั้งสองจังหวัดต่างพอใจต่อกระบวนการทำงานโครงการประกันรายได้ โดยจังหวัดสิงห์บุรีพอใจร้อยละ 52 ขณะที่จังหวัดอ่างทองพอใจร้อยละ 62

3. สำหรับความต้องการประกันรายได้พืชอื่นนอกจากพืชที่กล่าวข้างต้น พบว่าเกษตรกรจังหวัดสิงห์บุรี มีความต้องการร้อยละ 85 และอ่างทองมีความต้องการร้อยละ 49 โดยจังหวัดอ่างทองไม่ต้องการพืชอื่นนอกจากอ้อยโรงงาน สำหรับเหตุผลที่ทำให้เกษตรกรในสองจังหวัดพอใจโครงการประกันรายได้ไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนของสองจังหวัดเก็บเกี่ยวข้าวก่อนวันที่ 1ตุลาคม ซึ่งตามระเบียบเดิมไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ แต่ต่อมาคณะรัฐมนตรีและมติ กขช.ได้ยินยอมให้ข้าวที่เก็บเกี่ยวก่อนเดือนตุลาคมเข้าร่วมโครงการได้

นางจันทร์ธิดา กล่าวเสนอแนะเพิ่มเติมว่า แนวทางการดำเนินงานให้โครงการประสบความสำเร็จนั้นจะต้องมีการประชาสัมพันธ์โครงการแต่เนิ่นๆ เพื่อจะทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนและเตรียมการก่อนที่โครงการจะเริ่มดำเนินการ ในส่วนของกฎเกณฑ์ต่างๆ ก็ต้องมีความแน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพราะอาจทำให้เกษตรกรบางรายสับสนและเสียโอกาสเข้าร่วมโครงการ อย่างไรก็ตามคาดว่า การดำเนินการในครั้งต่อไปคงประสบปัญหาน้อยลง เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ