สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยผลการศึกษาศักยภาพการผลิตการตลาดกระบือนม พบมีโอกาสเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่มีช่องทางการตลาดรองรับในอนาคต หากได้รับการพัฒนารูปแบบการผลิต รวมทั้งสนับสนุนให้นมกระบือและผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักยอมรับของคนไทยมากขึ้น
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษาศักยภาพการผลิตการตลาดกระบือนมพบว่า กระบือนมที่มีเลี้ยงในประเทศได้แก่ พันธุ์ เมซาน่า และพันธุ์จาฟฟาราบัดดี ซึ่งมีถิ่นกำเนิดจากประเทศอินเดีย โดยกระบือเหล่านี้ได้เข้ามาในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว เพียงแต่ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเท่านั้น ในขณะเดียวกันนั้นกระบือนมถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญในหลายประเทศโดยเฉพาะเอเชียและยุโรป เช่น อินเดีย ปากีสถาน จีน อียิปต์ เนปาล ที่มีการเลี้ยงกระบือนมเพื่อรีดน้ำนมไว้บริโภคในครัวเรือนทั้งเพื่อเป็นเครื่องดื่มและประกอบอาหาร ส่วนประทศในยุโรปโดยเฉพาะอิตาลี และสหรัฐอเมริกา นิยมที่จะใช้เนยและชีส ที่ทำจากนมประบือมาประกอบอาหาร เช่น พิซซ่า ซึ่งจะทำให้มีความเหนียวหนืดเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค
ด้านนางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจกาเรกษตร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเลี้ยงกระบือนมนั้น สามารถเลี้ยงได้ทั้งเพื่อผลิตน้ำนม และเป็นกระบือเนื้อ โดยหากเลี้ยงเพื่อผลิตน้ำนมจะมีต้นทุนการผลิตน้ำนมกิโลกรัมละ 24 บาท ส่วนราคาขายกิโลกรัมละ 33 บาท ผลตอบแทนที่เกษตรกรได้รับกิโลกรัมละ 9 บาท ซึ่งน้ำนมกระบือสามารถแปรรูปได้เช่นเดียวกับนมโค และยังมีคุณสมบัติที่พิเศษกว่านมโค คือ มีคลอเรสเตอรอลต่ำกว่า 43% มีโปรตีนสูงกว่า 40% มีแคลเซียมสูงกว่า 58% มีสารต้านอนุมูลอิสระ และจากสาเหตุที่มีโปรตีนสูงนี้จึงทำให้สามารถนำไปผลิตชีสและเนยได้มากกว่านมโค โดยในการผลิตชีส 1 กิโลกรัม ใช้นมกระบือเพียง 5 กิโลกรัม ขณะที่นมโคใช้ไป 8 กิโลกรัม ส่วนการผลิตเนย 1 กิโลกรัม จะใช้นมกระบือ 10 กิโลกรัม ส่วนนมโคต้องใช้ถึง 14 กิโลกรัม
สำหรับการเลี้ยงกระบือนมเพื่อเป็นกระบือเนื้อนั้น นอกจากจะขายเพื่อนำไปบริโภคเนื้อเช่นเดียวกับกระบือทั่วไปแล้ว เกษตรกรยังขายพ่อ — แม่พันธุ์ให้เกษตรกรรายอื่นด้วย ซึ่งยังมีความต้องการอีกมาก โดยการเลี้ยงก็ไม่มีความยุ่งยากแต่อย่างใด เกษตรกรสามารถเลี้ยงปล่อยแบบเดียวกับการเลี้ยงกระบือทั่วไปที่เกษตรกรคุ้นเคยอยู่แล้ว ดังนั้นต้นทุนการผลิตตั้งแต่เกิดจนกระทั่งขายได้ จึงค่อนข้างต่ำเฉลี่ยตัวละ 7,130 บาท ราคาขายตัวละ 15,000 บาท เกษตรกรจะได้รับผลตอบแทนตัวละ 7,870 บาท
ดังนั้น หากกระบือนมได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมเพื่อให้มีต้นทุนต่ำลง ผลผลิตสูงขึ้นและคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะการได้รับการส่งเสริมด้านการตลาดนมและผลิตภัณฑ์จากนมเพื่อให้เป็นสินค้าตลาดกลุ่มเฉพาะ เช่น ตลาดผู้บริโภคระดับสูง กลุ่มผู้รักสุขภาพ ชาวต่างชาติ และสินค้าทดแทนสินค้านำเข้า ได้แก่ เนยและชีสประเภทต่าง ๆ ที่ต้องนำเข้าถึงปีละมากกว่า 2,500 ล้านบาท เพื่อนำมาประกอบอาหารในแบบตะวันตก ซึ่งขณะนี้กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หรือจะเลี้ยงเป็นกระบือเนื้อก็ยังสามารถช่วยให้เกษตรมีรายได้เสริม หรืออาจจะยึดเป็นอาชีพหลักได้อย่างยั่งยืนโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก แต่ได้รับผลตอบแทนค่อนข้างดี รวมทั้งช่วยเพิ่มอาหารโปรตีนในประเทศนอกเหนือจากเนื้อโคกระบือที่มีแนวโน้มลดลง
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--