ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Wednesday February 3, 2010 14:56 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ภาวะตลาดสุกรในสัปดาห์นี้เริ่มคึกคัก ในสัปดาห์นี้ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากมีความเสียหายจากโรคระบบทางเดินหายใจ (PRRS) ทำให้ปริมาณสุกรออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรมีมากขึ้น การซื้อขายเริ่มคล่องตัว แนวโน้มคาดว่าราคาจะสูงขึ้นตามความต้องการบริโภคที่จะเพิ่มขึ้นอีกในช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีน

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 57.59 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 57.19 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.70 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 56.97 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 55.33 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 58.99 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 59.11 บาท ส่วนราคา ลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,900 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 59.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 58.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.71 และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 70.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 69.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.72

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ภาวะตลาดไก่เนื้อคึกคักและคล่องตัว ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการบริโภคยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปริมาณไก่ใหญ่ออกสู่ตลาดน้อย ดังนั้นคาดว่าราคาจะยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นตามความต้องการบริโภคจะเพิ่มขึ้นอีกในช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีน

สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยถึงแนวโน้มการส่งออกสินค้าไก่แปรรูปของไทยช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 ว่า มีแนวโน้มที่ดี โดยสหภาพยุโรป (อียู)และญี่ปุ่น ทั้งสองเป็นตลาดส่งออกหลักสินค้าไก่ของไทยได้เริ่มเข้ามาสั่งซื้อสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการผลิตไก่ส่งออกของไทยให้ความระมัดระวังในการรับ ออร์เดอร์(คำสั่งซื้อ) เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง เช่น ราคาวัตถุดิบไก่เพื่อใช้ผลิตสินค้าส่งออกได้ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณการเลี้ยงไก่เนื้อของไทยลดลง ขณะนี้ภาพรวมทั่วประเทศประมาณ 17 ล้านตัวต่อสัปดาห์ จากก่อนหน้านี้ประมาณ 20 ล้านตัวต่อสัปดาห์ เนื่องจากการเลี้ยงไก่พ่อแม่พันธุ์มีปัญหาข้าวโพดที่ใช้เป็นส่วนผสมหลักในอาหารสัตว์มีคุณภาพต่ำทำให้แม่ไก่ให้ผลผลิตลูกไก่ลดลง นอกจากนี้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดในตลาดปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณผลผลิตสุกรออกสู่ตลาดน้อย ทำให้คนหันมาบริโภคเนื้อไก่มากขึ้น จากปัจจัยข้างต้นส่งผลให้ราคาไก่มีชีวิตหน้าฟาร์มในเขตภาคกลางเวลานี้เฉลี่ยสูงถึง 45 บาทต่อกก. ส่วนภาคใต้เฉลี่ยที่ 52-53 บาทต่อกก. ส่งผลให้ผู้ผลิตไก่ส่งออกมีต้นทุนที่สูงขึ้น อีกทั้งสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาก อยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เสียเปรียบในการแข่งขัน ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น

ด้านสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ได้เผยถึงการส่งออกไก่แปรรูปของไทยในปี 2552 ที่ทางสมาคมอยู่ระหว่างการสรุปตัวเลขที่ชัดเจน คาดจะมีปริมาณส่งออกราว 396,000 ตัน ลดลงจากปี 2551 ที่ส่งออก 400,000 ตัน ส่วนมูลค่าคาดจะส่งออกประมาณ 52,000-53,000 ล้านบาท จากปี 2551 ส่งออกมูลค่า 55,000 ล้านบาท เพราะลูกค้า คือ ญี่ปุ่นได้หันไปสั่งซื้อสินค้าจากจีนมากขึ้น สำหรับในปี 2553 คาดว่าจะส่งออกได้ประมาณ 398,000 ตัน ส่วนมูลค่าคาดว่าจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว เนื่องจากราคาสินค้ายังปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ไม่มาก เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว ปี 2552 ราคาสินค้าเฉลี่ย ตันละ 3,000-4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากปี 2551 ที่เกิดวิกฤติด้านอาหารของโลกราคาเฉลี่ย ตันละ 4,000-5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงไทยมีปัญหาถูกคุมโควตานำเข้าไก่จากอียู (ให้ปีละ 160,033 ตัน ในโควตาเสียภาษี ร้อยละ 8 นอกโควตาเสีย ร้อยละ 53) ดังนั้นจึงต้องเร่งหาตลาดใหม่ๆที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง

หน่วยงานกักกันโรคของไต้หวันได้ฆ่าเชื้อฟาร์มไก่ในเมือง Changhua หลังพบว่าติดเชื้อไข้หวัดนก H5N2 มีไก่ตาย 7,000 ตัวจากไก่ในฟาร์มทั้งหมด 49,000 ตัว ส่วนสัตว์ปีกที่เหลือได้รับการควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบฟาร์มไก่ในพื้นที่ข้างเคียงอีก 120 แห่ง ยังไม่พบการติดเชื้อดังกล่าว

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 44.01 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 43.71 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.69 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 48.05 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 41.65 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 43.43บาท และภาคใต้ไม่มีรายงาน ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ18.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 45.50 บาท และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 57.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ไข่ไก่ในสัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลจากการแก้ไขปัญหา เรื่อง ความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ที่เกิดจากปัญหาผลผลิตไข่ไก่ ล้นตลาด ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ คือ ด้านการตลาด ขยายตลาดรองรับผลผลิตไข่ไก่ โดยรณรงค์ให้มีการเพิ่มการบริโภคไข่ไก่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถระบายไข่ไก่ส่วนเกินได้อย่างน้อยวันละ 1,000,000 ฟอง โดยกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานกลางในการประสานเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานราชการกับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ และด้านการผลิต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ให้ลดกำลังการผลิต โดยขอความร่วมมือผู้ผลิตไก่ไข่พันธุ์ชะลอการนำลูกไก่เข้าเลี้ยง และผู้เลี้ยงไก่ไข่ขนาด 100,000 ตัวขึ้นไป ปลดแม่ไก่ยืนกรงก่อนกำหนดอายุการปลดปกติที่ 78 สัปดาห์

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 238 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 223 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 6.62 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 219บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 270 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 224 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 263 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 22.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 245 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 225 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 8.89

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 278 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 281 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.28 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 252 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 294 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 263 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 331 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 340 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 44.97 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 45.26 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.65 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 47.14 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 37.50 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 49.88 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 52.82 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 34.87 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 34.98 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.31 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 52.40 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 31.62 บาท ภาคกลาง 32.69 บาท ภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 25-31 มกราคม 2553--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ