ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ยางพารา

ข่าวทั่วไป Tuesday February 9, 2010 13:34 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ตลาดหาดใหญ่ สัปดาห์นี้ 92.52 บาท/กิโลกรัม

1. สรุปภาวะการผลิตการตลาดและราคาภายในประเทศ

นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดตั้งโรงงานต้นแบบ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางสำหรับกลุ่มเกษตรกรแห่งแรกขึ้นที่ อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น ซึ่งนอกจากจะเพื่อเป็นต้นแบบของโรงงานผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์ ยางชนิดต่างๆ สร้างมูลค่าเพิ่มและขยายช่องทางการส่งออกยางของไทยแล้ว เพื่อเป็นโรงเรียนผลิตบุคคลากรที่มีความรู้และทักษะทางด้านผลิตภัณฑ์ ยางในสถานที่แห่งเดียวกัน โดยในระยะแรกของการดำเนินการให้มีการบริหารจัดการคราวละไม่เกิน 3 ปี โดยสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำ สวนยาง (สกย.)

จะสนับสนุนด้านงบประมาณ มุ่งให้สามารถมีรายได้และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต ทั้งนี้ในการดำเนินการจะได้มีการดำเนินงาน ร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น เช่น อบจ. อบต. หรือหน่วยงานอื่นๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยาง เกษตรกรทั่วไป และชาว สวนยางรุ่นใหม่ ในด้านผลิตภัณฑ์ยางอย่างครบวงจรเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตต่อไป ทั้งนี้โครงการนำร่องโรงงานต้นแบบจัดทำใน 4 จังหวัด ใช้งบประมาณก่อสร้างโรงงานละ 22 ล้านบาท รวม 88 ล้านบาท

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

1. ยางแผ่นดิบคุณภาพที่ 1 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 91.24 บาท ลดลงจาก 92.49 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 1.25 บาท หรือร้อยละ 1.35

2. ยางแผ่นดิบคุณภาพที่ 2 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 90.74 บาท ลดลงจาก 91.99 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 1.25 บาท หรือร้อยละ 1.36

3. ยางแผ่นดิบคุณภาพที่ 3 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 90.24 บาท ลดลงจาก 91.49 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 1.25 บาท หรือร้อยละ 1.37

4. ยางแผ่นดิบคุณภาพที่ 4 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 89.27 บาท ลดลงจาก 90.71 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 1.44 บาท หรือร้อยละ 1.59

5. ยางแผ่นดิบคุณภาพที่ 5 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 88.27 บาท ลดลงจาก 89.71 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 1.44 บาท หรือร้อยละ 1.61

6. ยางแผ่นดิบคละ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 87.36 บาท ลดลงจาก 89.12 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 1.76 บาท หรือ ร้อยละ 1.97

7. ยางก้อนคละ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 49.11 บาท สูงขึ้นจาก 48.77 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 0.34 บาท หรือ ร้อยละ 0.70

8. เศษยางคละ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 46.07 บาท ลดลงจาก 46.16 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 0.09 บาท หรือ ร้อยละ 0.19

9. น้ำยางข้นคละ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 87.95 บาท สูงขึ้นจาก 87.74 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 0.21 บาท หรือ ร้อยละ 0.24

ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี. ซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบเดือนมีนาคม 2553

ณ ท่าเรือกรุงเทพ

1. ยางแผ่นรมควันชั้น 1 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 102.65 บาท ลดลงจาก 104.71 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 2.06 บาท หรือร้อยละ 1.97

2. ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 101.50 บาท ลดลงจาก 103.56 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 2.06 บาท หรือร้อยละ 1.99

          3. น้ำยางข้น           ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ  68.38 บาท  ลดลงจาก   68.25 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 0.13 บาท
หรือร้อยละ 0.19

ณ ท่าเรือสงขลา

1. ยางแผ่นรมควันชั้น 1 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 102.40 บาท ลดลงจาก 103.84 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 1.44 บาท หรือร้อยละ 1.39

2. ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 101.25 บาท ลดลงจาก 103.25 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 2.00 บาท หรือร้อยละ 1.94

          3. น้ำยางข้น          ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ  68.13  บาท  ลดลงจาก   68.38 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 0.25 บาท
หรือร้อยละ 0.37

2. สรุปภาวะการผลิตการตลาดและราคาในตลาดต่างประเทศ

สมาพันธ์ประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ หรือ ANRPC ( Association of Natural Rubber Producing Countries : ANRPC ) เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกของปีนี้ประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะนำเข้ายางคอมปาวด์ประมาณ 200,000 ตันหรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเวลา เดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยปีที่ผ่านมาจีนก็ได้นำเข้ายางพาราสูงถึง 1.015 ล้านตัน

อนึ่ง ความต้องการใช้ยางที่ยังคงมีมากในประเทศจีนและมาเลเซียเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ส่งผลให้ยางยังคงมีราคาสูง

นาย Sajen Peter ประธานคณะกรรมการยางพาราประเทศอินเดีย (India's Rubber Board) เปิดเผยว่า ITRC ได้ทาบทาม ประเทศอินเดียให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของสภายางพาราไตรภาคีระหว่างประเทศ (International Tripartite Rubber Council : ITRC) เพื่อร่วมกันกำหนดหรือควบคุมอุปทานยางพาราโลก แต่อินเดียปฏิเสธเนื่องจากอินเดียเป็นหนึ่ง ในประเทศสมาชิกของสมาพันธ์ประเทศผู้ผลิต ยางธรรมชาติ หรือ ANRPC (Association of Natural Rubber Producing Countries : ANRPC) ซึ่งหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของ ANRPC นั้น คือ การปรับปรุงผลผลิตยางธรรมชาติไม่ใช่การควบคุมหรือกำหนดอุปทานยางพาราในตลาดโลก อีกทั้งได้ให้ข้อสังเกตว่า การที่ประเทศ เวียดนามซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตยางธรรมชาติได้มากเป็นอันดับ 5 ของโลกได้เข้าร่วมในกลุ่ม ITRC เป็นประเทศล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้น จะไม่ส่งผลกระทบมากในการควบคุมอุปทานยางพาราโลกเนื่องจากผู้ผลิตยางพาราของเวียดนาม ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยซึ่งไม่สามารถที่จะ ผลิตยางพาราเป็นปริมาณมากได้ นอกจากนี้ยังคาดคะเนว่า ราคายางธรรมชาติจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเนื่องจากผลผลิตโลกนั้น ลดลง ดังนั้น การที่จะมีมาตรการควบคุมอุปทานยางพาราโลกจึงไม่ใช่สิ่งที่ควรปฏิบัติ

อนึ่ง อุปทานยางพาราของประเทศในกลุ่ม ITRC อันได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซียและเวียดนามรวมกันแล้วประมาณร้อย ละ 84 ของอุปทานยางพาราโลก ซึ่งกลุ่ม ITRC ได้เคยตกลงร่วมกันในการลดปริมาณการส่งออกยางพาราเป็นปริมาณ 700,000 ตัน ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคายางพาราโลกในตลาดโตเกียวนั้นตกลงมาอยู่ที่ 100 เยนต่อกิโลกรัม ( 35.9715บาทต่อกิโลกรัม ) เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2551 ในขณะที่อุปทานยางพาราของประเทศอินเดีย จีน และประเทศในกลุ่ม ITRC ซึ่งได้รวมตัวกันในนามของ ANRPC มีอุปทานสูงถึงร้อยละ 94 ของ อุปทานยางพาราโลก

ราคาต่างประเทศซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบเดือนมีนาคม 2553

ยางแผ่นรมควันชั้น 3

ราคาซื้อขายล่วงหน้าตลาดสิงคโปร์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 303.60 เซนต์สหรัฐ (99.86 บาท) ลดลงจาก 309.60 เซนต์สหรัฐ (101.60 บาท) ในสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 6.00 เซนต์สหรัฐหรือร้อยละ 1.94

ราคาซื้อขายล่วงหน้าตลาดโตเกียว เฉลี่ยกิโลกรัมละ 269.18 เยน (97.28 บาท) ลดลงจาก 273.70 เยน (99.38 บาท) ในสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 4.52 เยน หรือร้อยละ 1.65

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ 2553--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ