สศก. ร่วมปูทางขยายโครงการข้าวหอมมะลิมาตรฐานในทุ่งกุลาร้องไห้

ข่าวทั่วไป Monday February 15, 2010 14:57 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการบริหารโครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้จังหวัดร้อยเอ็ด เดินหน้าขยายขอบเขตเป้าหมายโครงการ หวังแข่งขันการเปิดเสรีทางการค้า และจะสร้างมูลค่าให้แก่ประชาชนในพื้นที่เกือบหมื่นล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า

นางสุภาพร พิมลลิขิต รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารโครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งร่วมประชุมกับคณะทำงานโครงการฯ ในระดับปฏิบัติงานพื้นที่ของจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีนายพิทยา สุนทรวิภาต รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นประธานคณะทำงาน เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมโรงเรียนจันทรุเบกษาอนุสรณ์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

โดยการประชุมได้มีการติดตามผลการดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน ตามที่ สศก. ได้ร่วมกับจังหวัดร้อยเอ็ดและหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐไปสู่ประชาชน ซึ่งพบว่าทุ่งกุลาร้องไห้ในปัจจุบันมีการทำนาปรังโดยใช้พันธุ์ข้าวปทุมธานี และชัยนาท ซึ่งเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในคุณภาพข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ในตลาดโลก อันจะเป็นผลกระทบต่อราคาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติร่วมกันในการกำหนดยุทธศาสตร์ของจังหวัดร้อยเอ็ดว่าจะไม่ทำนาปรังเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบดังกล่าว แต่จะสนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรอื่นที่ตลาดมีความต้องการแทน อาทิ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และผัก ซึ่งสินค้าเกษตรทางเลือกเหล่านี้จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ทัดเทียมเท่ากับการทำนาปรัง โดย สศก. จะได้ประสานกับผู้ประกอบการ ในการเข้ามารับซื้อผลผลิตผ่านสถาบันเกษตรกร ซึ่งถือเป็นทางออกที่จะทำให้ได้รับผลประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการขยายขอบเขตเป้าหมายโครงการให้คลอบคลุมถึงการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของจังหวัดในทุ่งกุลาร้องร้องไห้ อันเป็นการสนองตอบต่อนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากเป็นข้าวที่มีตลาดผู้ซื้อซึ่งมีรายได้สูงนิยมบริโภค และมีคำสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก พร้อมกับการเสนอราคาที่สูงกว่าราคาข้าวหอมมะลิทั่วไป โดยสศก. ได้เสนอร่างโครงการที่จะดำเนินการผลิตในพื้นที่ 4 แสนไร่ และผลักดันให้เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายสามารถทำการผลิต และผ่านเกณฑ์มาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับของตลาดในแต่ละประเทศ อันจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม สามารถแข่งขันการเปิดเสรีทางการค้า โดยคาดว่ากิจกรรมดังกล่าวจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประชาชนในพื้นที่เกือบหมื่นล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ