ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวทั่วไป Tuesday February 16, 2010 14:07 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

1.1.1 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ1)

  • ระยะเวลาการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ข้าวเปลือกนาปี เดือนกรกฎาคม — 31 ตุลาคม 2552 สำหรับภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคใต้ขยายเวลาถึง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553
  • เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนการปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตร และทำประชาคมรับรองการผลิต
  • เกษตรกรที่ได้ใบรับรองการผลิตหลังจากทำประชาคมแล้ว สามารถนำไปทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม — 30 พฤศจิกายน 2552 ยกเว้นภาคใต้ ถึงเดือน 31 มีนาคม 2553 )
  • การจัดทำสัญญาประกันรายได้ โดย ธ.ก.ส. สาขาที่เป็นภูมิลำเนา/ต้นที่ปลูก ตั้งแต่เดือน สิงหาคม - 15 ธันวาคม 2552 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2552 - 15 เมษายน 2553
  • ระยะเวลาใช้สิทธิ์ประกันรายได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552- 28 กุมภาพันธ์ 2553 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ — 31 พฤษภาคม 2553
  • ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
  • ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,300 บาท ไม่เกิน 14 ตัน / ครัวเรือน
  • ข้าวเปลือกหอมจังหวัด ตันละ 14,300 บาท ไม่เกิน 16 ตัน / ครัวเรือน
  • ข้าวเปลือกเจ้าตันละ ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน
  • ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน
  • ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,500 บาท ไม่เกิน 16 ตัน / ครัวเรือน
  • ระยะเวลาโครงการ เดือนกรกฎาคม 2552 — กรกฎาคม 2553

การเกษตร

1.1.2 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ2)

  • ระยะเวลาประชาสัมพันธ์ 1 ธันวาคม 2552 — 31 กรกฎาคม 2553
  • ระยะเวลาการขึ้นทะเบียนเกษตรกร 1 มกราคม — 30 เมษายน 2553 (ภาคใต้ 1 เมษายน — 31 กรกฎาคม 2553
  • ระยะเวลาประชาคม 6 มกราคม - 15 พฤษภาคม 2553 (ภาคใต้ 6 เมษายน — 15 สิงหาคม 2553)
  • ระยะเวลาออกหนังสือรับรอง 15 มกราคม — 20 พฤษภาคม 2553 (ภาคใต้ 15 เมษายน — 20 สิงหาคม 2553)
  • การจัดทำสัญญาประกันรายได้ 20 มกราคม — 30 พฤษภาคม 2553 (ภาคใต้ 20 เมษายน — 30 สิงหาคม 2553)
  • การใช้สิทธิ์ประกันรายได้ 21 มกราคม — 31 กรกฎาคม 2553 (ภาคใต้ 21 เมษายน — 31 ตุลาคม 2553)
  • ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
                    - ข้าวเปลือกปทุมธานี 1  ตันละ 11,000 บาท           ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
                    - ข้าวเปลือกเจ้า       ตันละ 10,000 บาท           ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
                    - ข้าวเปลือกเหนียว     ตันละ  9,500 บาท           ไม่เกิน  16 ตัน / ครัวเรือน

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้

ราคาข้าวส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงในทุกตลาด เนื่องจากโรงสีต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนจึงนำข้าวในสต๊อคบางส่วนออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นประกอบกับ ผู้ส่งออกชะลอการรับซื้อ เพราะมีข้าวในสต๊อคเพื่อเตรียมส่งมอบเพียงพอบ้างแล้ว รวมทั้งรอดูท่าทีนโยบายการดำเนินงานของภาครัฐก่อน

การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 — 5 กุมภาพันธ์ 2553 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 830,364 ตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 754,078 ตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 10.12

(ที่มา: กรมการค้าภายใน)

1.2 ราคา

ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,298 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,496 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.36

ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,680 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,722 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.43

ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,550 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,337 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.7

ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี ความชื้น 14-15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,294 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,111 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 8.08

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 16,570 บาท ราคาลดลงจากตันละ 16,950 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.24

ราคาส่งออก เอฟ.โอ. บี

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,021 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ (33,625 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่สูงขึ้นในรูปของเงินบาท ตันละ 40 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 832 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,404 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 848 ดอลล่าร์สหรัฐ (27,895 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.87 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 491 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 555 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,278 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 561 ดอลล่าร์สหรัฐ (18,454 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.07 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 176 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 493 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,236 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 497 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,349 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.80 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 113 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 598 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,694 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 604 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,868 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.99 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 174 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.9337 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

2.1 ยอดส่งออกข้าวไทยไปจีนอาจลดฮวบ

ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกมีแนวโน้มการส่งออกข้าวไปจีนลดลงมากในปี2553 นี้ เนื่องจากปัญหาราคาข้าวของไทยที่ไม่มีเสถียรภาพ อันเนื่องมาจากนโยบายการประกันราคาของหลายรัฐบาลที่ไม่ค่อยคงที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้นำเข้าข้าว รวมถึงประเด็นของอัตราการแลกเปลี่ยน จากสาเหตุดังกล่าวทำให้จีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิรายใหญ่ลดการนำเข้าข้าวจากไทยถึงร้อยละ 80.96 เหลือเพียง 11,841 ตัน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา อาทิ กรณีของบริษัท Chengdu Jinxiong ซึ่งโดยปกติจะมีการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยประมาณ 3,000-4,000 ตัน/ปี ก็จะมีการลดปริมาณการนำเข้าลง 10-20% เนื่องจากราคาที่สูงและความเชื่องช้าของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นสาเหตุให้อำนาจการซื้อของผู้บริโภคลดลง และนำไปสู่ปัญหาการปลอมปนข้าว ส่งผลต่อชื่อเสียงของข้าวไทย ทั้งนี้ จากปัญหาดังกล่าว รัฐบาลควรสร้างเสถียรภาพราคาข้าวและอัตราการแลกเปลี่ยนให้คงที่มากขึ้น

อนึ่ง ปัจจุบันราคาข้าวของเวียดนามอยู่ที่ระดับ 200-300 เหรียญสหรัฐ/ตัน (6,586.74-9,880.11 บาท/ตัน) ในขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยและข้าวปทุมธานี ราคาตันละ 889 และ 725 เหรียญสหรัฐ (29,278.06 และ 23,876.93 บาท) ตามลำดับ

2.2 ผู้เชี่ยวชาญเสนอทางแก้ปัญหาข้าวของฟิลิปปินส์

จากกรณีปัญหาการขาดแคลนข้าวในประเทศ โดยต้องนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมากนั้น มีผู้เชี่ยวชาญได้เสนอแนวทางแก้ไข โดยรัฐบาลควรยกเลิกมาตรการการจำกัด (Quantitative Restrictions) และยกเลิกระบบผูกขาดการนำเข้า กล่าวคือ การอนุญาตให้ผู้ค้าส่งรายใหญ่ประมูลสิทธิในการนำเข้าข้าว โดยยึดปริมาณอุปทานที่ขาดแคลนจากที่กำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้ระบบการผูกขาดการนำเข้าข้าวโดย National Food Authority (NFA) หมดไป และอนุญาตให้รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งจัดตั้งกองทุนให้แก่ผู้ยากไร้สามารถเข้าถึงอาหารได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยวิธีการดังกล่าว ก็ไม่อาจส่งผลให้ราคาข้าวลดลงไปถึงระดับก่อนหน้าได้ นอกจากนี้ ในประเด็นของเรื่องน้ำจะเป็นปัญหาสำคัญในศตวรรษที่ 21 ฟิลิปปินส์จำเป็นที่ต้องเริ่มหาแหล่งคาร์โบไฮเดรตจากสิ่งอื่นแทน เช่น มันสำปะหลัง กล้วย มันเทศ และข้าวโพด โดยเฉพาะในบริเวณที่ดอนหรือที่สูง ในส่วนของอัตราภาษีการนำเข้าที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน รัฐบาลควรพิจารณาอัตราภาษีให้ปรับเปลี่ยนตามฤดูกาล โดยลดภาษีในช่วงเดือนที่ผลผลิตน้อยและเพิ่มในกลางฤดูเก็บเกี่ยว

อนึ่ง ถ้ามาตรการต่างๆ ในประเทศโดยรวมเข้าที่และเป็นปัจจัยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้ จะช่วยให้การยกเลิกการจำกัดปริมาณประสบผลสำเร็จอย่างสมบูรณ์แบบ แต่กระนั้น ในปัจจุบัน ฟิลิปปินส์ยังคงมีเพียงการจำกัดปริมาณ (Quantitative Restrictions) ในปกป้องทางการค้า ซึ่งรัฐบาลควรพิจารณาเพิ่มมาตรการอุดหนุนภายใน (Domestic Support) ในระหว่างที่ประเทศยังไม่เป็นเสรีทางการค้าข้าวอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งขณะนี้ รัฐบาลกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในคำร้องขอขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่ได้ขอให้ขยายการจำกัดปริมาณของข้าวที่กำลังจะหมดอายุในปี 2555 นี้ ซึ่งปัจจุบันมีกฎเกณฑ์ในการจำกัดปริมาณการนำเข้าข้าวด้วยอัตราภาษีร้อยละ 40 เพื่อป้องกันการไหลทะลักเข้ามาของข้าวราคาถูกจากต่างประเทศ ในส่วนของการนำเข้าข้าวอื่นๆ มีอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 50

2.3 โรคและแมลงระบาดในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

ผลผลิตข้าวในฤดูหนาว-ใบไม้ผลิ ของเวียดนามถูกโรคระบาดในหลายจังหวัดในบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง อาทิ Kien Giang, Long AN, Dong Thap, Vinh Long, An Giang, Soc Trang และ Giang โดยครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 99,000 เฮกตาร์ (618,750 ไร่) หรือประมาณ 5-15% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งบางพื้นที่อาจสูงถึง 30% ซึ่งขณะเดียวกัน ก็เกิดการทำลายของแมลงในพื้นที่เกือบ 46,465 เฮกตาร์ (290,406.25 ไร่) โดยมีความหนาแน่นของแมลงอยู่ที่ 750-2,000 ตัว/ตารางเมตร และในบางพื้นที่มีความหนาแน่นของแมลงศัตรูพืชสูงถึง 3,000-7,000 ตัว โดยแมลงดังกล่าวได้มีการอพยพมาจากแหล่งอื่นและจะเข้าสู่วงจรการสืบพันธุ์ก่อนหน้าวันตรุษจีน (14 กุมภาพันธ์) ประมาณ 2-3 วัน

ทั้งนี้ ได้มีการเรียกหน่วยงานในการพัฒนาการเกษตรและชนบทของจังหวัดในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงให้หามาตรการควบคุมแมลงดังกล่าวในนาข้าวที่ใกล้เก็บเกี่ยว และตรวจสอบ/ควบคุมโรคในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังวันตรุษจีนด้วย

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 8-14 กุมภาพันธ์ 2553--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ