ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Tuesday February 16, 2010 14:39 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดสุกรในสัปดาห์นี้ค่อนข้างคึกคักและคล่องตัว ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเข้าสู่ช่วงเทศกาลตรุษจีน ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณสุกรที่ออกสู่ตลาดมีไม่มาก แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือปรับตัวสูงขึ้น

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 59.63 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 59.03 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.02 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 58.35 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 59.11 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 59.92 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 59.34 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,900 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 61.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 60.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.65 และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 71.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 70.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.42

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดไก่เนื้อในสัปดาห์นี้ ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าจะเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน แต่จากปริมาณผลผลิตไก่ใหญ่ที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นและน้ำหนักไก่จับออกเพิ่มขึ้น แนวโน้มคาดว่าราคาจะปรับตัวลดลง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ได้จัดโครงการเนื้อสัตว์ปีกปลอดภัยฉลองตรุษจีน ปี 2553 โดยจัดป้ายติดร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจำหน่ายสัตว์ปีกปลอดภัย โดยสัตว์ปีกที่จำหน่ายจะมีสายรัดข้อเท้าระบุคำว่า กรมปศุสัตว์พร้อมรหัสเป็นเลข 6 หลักกำกับรายตัว สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสัตว์ปีกตัวดังกล่าวได้ว่ามาจากฟาร์มใด โรงฆ่าที่ไหน ผลิตเมื่อใดและแสดงถึงการผ่านการตรวจสอบคุณภาพ และความปลอดภัยจากกรมปศุสัตว์ โดยมีจำนวนสัตว์ปีกที่จะเข้าร่วมโครงการประมาณ 2 ล้านตัว อย่างไรก็ตามปัจจุบันประเทศไทยไม่พบเชื้อไข้หวัดนก เป็นระยะเวลา 450 วัน ผู้บริโภคจึงมั่นใจถึงความปลอดภัยในการบริโภคสัตว์ปีกทั้งเป็ดและไก่มากขึ้น

รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์จีน เผยถึง จีนจะเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) เบื้องต้นกับเนื้อไก่นำเข้าจากสหรัฐฯ ที่อัตราภาษี ร้อยละ 43.1 ถึง ร้อยละ 105.4 หลังตรวจสอบอย่างเป็นทางการและพบว่ามีเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ พวกชิ้นส่วนปีกและขาไก่ของสหรัฐฯ ได้วางจำหน่ายในราคาถูกในตลาดจีนเป็นจำนวนมาก แต่กับจีนผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถือเป็นอาหารที่มีราคาแพง ทำให้ผู้ประกอบการสหรัฐฯ หลายรายถือว่าจีนเป็นตลาดที่สร้างกำไรให้กับบริษัท ทั้งนี้ บริษัทส่งออกที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้ลงทุนหลักได้ยื่นอุทธรณ์ในกรณีภาษี AD และวิ่งเต้นกับจีนเพื่อให้บริษัทต้องจ่ายภาษีในอัตราที่ต่ำที่สุด (ร้อยละ 43.1- 80.5) ส่วนบริษัทที่ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์จะต้องจ่ายภาษี ร้อยละ 105.8 อย่างไรก็ตามจีนจะเริ่มต้นเก็บภาษี AD ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งจะไม่ทำให้ราคาเนื้อไก่สูงขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 44.30 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 44.38 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.18 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 49.52 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 41.66 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 43.10บาท และภาคใต้ไม่มีรายงาน ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ18.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 45.50 บาท และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 57.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ภาวะตลาดไข่ไก่ในสัปดาห์นี้ค่อนข้างคึกคักและสดใส ราคาที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้ปลดแม่ไก่ยืนกรงเพื่อรองรับความต้องการบริโภคไก่ตัวในช่วงเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับผลจากการปรับลดปริมาณผลผลิตไข่ไก่ โดยขอความร่วมมือปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงก่อนกำหนด ทำให้ปริมาณผลผลิตไข่ไก่ที่ออกสู่ตลาดลดลงและเริ่มสอดคล้องกับความต้องการบริโภค แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือปรับตัวสูงขึ้น

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 257 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 252 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 2.15 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 265บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 261 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 250 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 272 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 24.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 275 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 262 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 4.96

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 283 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 279 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.43 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 256 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 293 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 273 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 331 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 340 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 43.49 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 44.94 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 3.23 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 47.06 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 37.68 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 43.73 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 52.82 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 35.04 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 35.08 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.12 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 52.40 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 31.85 บาท ภาคกลาง 32.69 บาท ภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 8-14 กุมภาพันธ์ 2553--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ