สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยผลวิจัยการผลิต การตลาด และโลจิสติกส์กุ้งก้ามกราม พบ ผลผลิตลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 8 เหตุจากต้นทุนการผลิตและอาหารกุ้งที่สูงขึ้น ส่งผลราคาสูงขึ้นตาม แนะเกษตรกรพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐานตามความต้องการตลาดเพราะเป็นสินค้าที่มีช่องทางตลาดที่สดใสตีตลาดผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง
นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการวิจัยเศรษฐกิจการผลิตการตลาดและโลจิสติกส์กุ้งก้ามกราม โดยจากผลการศึกษา พบว่า ผลผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยงลดลงร้อยละ 8จากปีที่ผ่านมา มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาน้ำมันและอาหารกุ้งที่ปรับตัว สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาลูกพันธุ์กุ้งคุณภาพไม่ดี มีอัตราการรอดตายต่ำ เกษตรกรบางส่วนจึงชะลอการเลี้ยง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ส่งผลให้ราคากุ้งที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้นประมาณ ร้อยละ 15 โดยกุ้งขนาด 21-30 ตัว/กก. ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 160 บาท และขนาด 10-20 ตัว/กก. ราคากิโลกรัมละ 220 บาท ส่วนการศึกษาด้านต้นทุนพบว่า ในช่วง 8 เดือนเกษตรกรผู้เลี้ยงมีต้นทุนทั้งหมดเฉลี่ย 22,260 บาท/ไร่/รุ่น ได้กำไรสุทธิ 14,447 บาท/ไร่/รุ่น หรือ 67 บาท/กก. ในส่วนด้านการตลาด พบว่า ผลผลิตจะถูก ส่งไปที่ร้านอาหารถึงร้อยละ 70 ต้นทุนการตลาดส่วนใหญ่เป็นค่าขนส่งกุ้ง ซึ่งต้องให้ออกซิเจน การควบคุมอุณหภูมิของน้ำ ค่าน้ำมันและค่าแรงงานในการดูแลระหว่างการขนส่งเพื่อไม่ให้กุ้งตาย โดยเริ่มจากแพกุ้งซึ่งในแหล่งเลี้ยงที่สำคัญจะมีแพกุ้งหรือพ่อค้าผู้รวบรวมน้อยรายทำให้พ่อค้าสามารถกดราคารับซื้อจากเกษตรกรได้ ส่วนในระบบตลาด พบว่า แพกุ้งยังได้รับกำไรสูงสุดถึง 31 บาท/กก. พ่อค้าขายส่งได้กำไร 11 บาท/กก. และพ่อค้าขายปลีกได้กำไร 21 บาท/ กก.
ด้านรูปแบบการเลี้ยงและการจัดการที่เหมาะสม พบว่า การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามร่วมกับกุ้งขาวแวนาไม สามารถลดการสูญเสียอาหารและปัญหาน้ำเน่าเสียที่เกิดจากการหมักหมมของเศษอาหารลงได้ เพราะกุ้ง ก้ามกรามจะกินเศษอาหารที่ร่วงลงสู่พื้นบ่อ ส่วนการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามร่วมกับปลาทับทิม สามารถวางกระชังปลาทับทิมในบ่อเดียวกับกุ้งก้ามกรามได้เช่นกัน เนื่องจากกุ้งก้ามกรามจะหากินและอาศัยอยู่ก้นบ่อ ส่วนกระชังปลา จะวางเหนือพื้นบ่อ อีกทั้งปลาทับทิมเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายโตเร็ว ให้ราคาดีเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งใช้ระยะเวลาการเลี้ยง 4 เดือนก็สามารถจับขายได้สร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง สำหรับการรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์มีการจัดหาปัจจัยการผลิตจำหน่ายให้กับสมาชิก รวมทั้งมีการซื้อขายผ่านกลุ่ม ทำให้เกษตรกรมีอำนาจใน การต่อรองมากขึ้น ส่วนปัญหาหลักในการเลี้ยง พบว่า ปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะอาหารสัตว์มีราคาสูง รวมทั้งเกษตรกรยังผลิตสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพและมาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ
รองเลขาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า กุ้งก้ามกราม นับเป็นสินค้าที่มีศักยภาพและมีช่องทางการตลาดที่สดใส ถึงแม้ว่ากุ้งก้ามกรามจะเป็นอาหารที่มีราคาแพงแต่กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง แต่หากเกษตรกรสามารถพัฒนาผลผลิตกุ้งที่มีคุณภาพและขนาดตามที่ตลาดต้องการได้ คาดว่าจะเป็นสินค้าที่มีโอกาสที่ดีท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ซบ เซาในปัจจุบัน โดยสามารถสร้างรายได้ที่ดีให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างดี ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งวิจัยพัฒนาสายพันธุ์กุ้งอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการเผยแพร่ผลการวิจัยต่างๆ สู่ภาคเอกชนและเกษตรกรผู้เลี้ยง เช่น การแปลงเพศกุ้งก้ามกรามให้เป็นเพศผู้เพื่อให้สามารถขุนเป็นกุ้งขนาดใหญ่ได้ การลดต้นทุนการผลิตโดยใช้หอยเชอรี่แทนปลาป่นในอาหารกุ้ง รวมทั้งการร่วมมือกันจัดทำฟาร์มตัวอย่างเพื่อให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตนเอง และเร่งรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์เพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองและให้หน่วยงานภาครัฐสามารถเข้าไปให้การสนับสนุนได้สะดวกรวดเร็วขึ้น
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--