สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ ในปี 53 จะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วตามปริมาณความต้องการบริโภคและการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษาความต้องการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญได้เกือบทุกชนิด ยกเว้น ถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง และปลาป่นคุณภาพสูง ซึ่งผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ทำให้ในแต่ละปีจึงต้องนำเข้าสินค้าเหล่านี้เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้เกษตรกร และเพื่อให้เกิดความมั่นคงในการผลิตพืชอาหารสัตว์ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ จึงได้มีการพัฒนาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ในการประมาณการความต้องการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อคำนวณความต้องการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสัตว์แต่ละชนิดในแต่ละช่วงอายุ และ มีต้นทุนต่ำสุด กรณีศึกษา ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร
การศึกษาพบว่า ปริมาณความต้องการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญของไทยในปี 2552 กรณีศึกษา ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร มีปริมาณความต้องการใช้ ปลายข้าวจำนวน 0.70 ล้านตัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวน 3.19 ล้านตัน รำละเอียดจำนวน 1.12 ล้านตัน กากถั่วเหลืองจำนวน 2.21 ล้านตัน และปลาป่นจำนวน 0.17ล้านตัน และคาดว่าความต้องการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ในปี 2553 กรณีศึกษา ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันกับอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรสัตว์ โดยในปี 2553 คาดว่ามีปริมาณความต้องการใช้ปลายข้าวจำนวน 0.72 ล้านตัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวน 3.26 ล้านตัน รำละเอียดจำนวน 1.15 ล้านตัน กากถั่วเหลืองจำนวน 2.26 ล้านตัน และปลาป่นจำนวน 0.18 ล้านตัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าการใช้แบบจำลองดังกล่าวสามารถพยากรณ์ปริมาณความต้องการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อประกอบการวางแผนด้านการผลิตและการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้สอดคล้องและเพียงพอกับปริมาณความต้องการใช้ อันจะนำไปสู่การวางแนวนโยบายเพื่อสร้างความสมดุลทางด้านอาหาร อาหารสัตว์ และพลังงานทดแทน นอกจากนี้เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร และเพื่อให้สัตว์ได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ควรหันมาผสมอาหารสัตว์ใช้เอง เพราะนอกจากจะเป็นการลดต้นทุนแล้วยังมีโอกาสเลือกวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพทำให้สัตว์ได้รับคุณค่าทางอาหารดีขึ้น และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิตอาหารสัตว์ใช้เอง ซึ่งเกษตรกรควรรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มหรือสหกรณ์ในการจัดหา จัดซื้อวัตถุดิบและผลิตอาหารสัตว์ใช้ร่วมกัน
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--