GTZ จับมือ 3 ยักษ์ใหญ่โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มของไทยพัฒนาการผลิตน้ำมันปาล์มมาตรฐานสากลบุกตลาดอียู

ข่าวทั่วไป Wednesday March 3, 2010 13:13 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) จับมือโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม 3 แห่งใหญ่ ลงนามข้อตกลงการดำเนินโครงการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเพื่อพลังงานชีวภาพอย่างยั่งยืน ในการพัฒนาการผลิตให้เกิดความยั่งยืนและได้มาตรฐานสากลเพื่อส่งออก ชี้ผู้ประกอบการมีความพร้อมหลายด้านแล้วแต่ยังจำเป็นต้องปรับแนวทางให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า โครงการนำร่องการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตปาล์มน้ำมันที่มีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมที่จะเอื้อประโยชน์ให้ทั้งเกษตรกร และโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยโครงการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเพื่อพลังงานชีวภาพอย่างยั่งยืน จะสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพการผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกรในด้านต่างๆ เช่น การฝึกอบรม การให้ความรู้ที่ถูกต้องในการบริหารจัดการการผลิตปาล์มน้ำมัน ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การจัดระบบการตลาดที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อทั้งโรงงานที่รับซื้อและเกษตรกร ตลอดจนการสร้างเครือข่ายในการพัฒนาการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนทั้งระบบและส่งผลให้การผลิตน้ำมันปาล์มของไทยได้รับการรับรองมาตรฐานน้ำมันปาล์มเพื่อการส่งออก ซึ่งผลการดำเนินงานที่ได้จากโครงการนำร่อง สามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่นๆ ได้ต่อไป

ด้าน นายแดเนียล มาย ผู้อำนวยการโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเพื่อพลังงานชีวภาพอย่างยั่งยืน สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) ซึ่งเป็นสำนักงานตัวแทนของรัฐบาลเยอรมัน ที่ดำเนินงานเพื่อให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยปฏิบัติภารกิจในนามของกระทรวงต่างๆ ภายใต้รัฐบาลเยอรมัน รวมทั้งรัฐบาลของประเทศต่างๆ และองค์กรนานาชาติ อาทิ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย รวมทั้งบริษัทเอกชนต่างๆ สำหรับประเทศไทย GTZ ได้เข้ามาดำเนินงานเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเพื่อพลังงานชีวภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี (มกราคม 2552 — ธันวาคม 2554) โดยเห็นว่าประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่มีโอกาสและศักยภาพสูงในการพัฒนาการผลิตแบบมีส่วนร่วมระหว่างเกษตรกรรายย่อยและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม

ทั้งนี้ จำเป็นจะต้องมีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและเกษตรกรรายย่อย และความร่วมมือกันในการพัฒนาการผลิตที่เน้นคุณภาพและได้มาตรฐาน สำหรับความร่วมมือในด้านวิชาการนั้น GTZ มีความยินดีจะให้การสนับสนุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรายย่อยให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและการดำรงชีพเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ประกอบการแปรรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มมีความพร้อมหลายด้านในการเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มไปยังตลาดสหภาพยุโรป เพียงแต่จำเป็นต้องปรับแนวทางการผลิตให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของการส่งออกน้ำมันปาล์มไปสหภาพภาพยุโรป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ