ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Wednesday March 10, 2010 14:21 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ค่อนข้างทรงตัว หลังจากช่วงก่อนหน้านี้ราคาได้ปรับสูงขึ้นมาเรื่อย ๆ แต่เนื่องจากสถานศึกษาต่างๆ ได้ทยอยปิดภาคเรียน ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลงเล็กน้อย แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือปรับตัวลดลง

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 60.64 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 60.82 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.30 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 60.74 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 60.28 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 60.96 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 59.36 บาท ส่วนราคา ลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,900 บาท (บวกลบ 60 บาท) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 61.50 บาท และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 71.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ภาวะตลาดไก่เนื้อ ในสัปดาห์นี้ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากมีปริมาณไก่ใหญ่เริ่มสะสมมากและน้ำหนักจับไก่หน้าเล้าเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณความต้องการบริโภคไก่เริ่มลดลง เพราะสถานศึกษาต่างๆ ได้ทยอยปิดภาคเรียน แนวโน้มคาดว่าราคาจะลดลง

กรมปศุสัตว์ เผยถึงสถานการณ์การควบคุมโรคไข้หวัดนก ขณะนี้ไม่มีรายงานการเกิดโรคไข้หวัดนกในประเทศไทยเป็นเวลา 470 วันแล้ว นับแต่วันที่มีการทำลายสัตว์ปีกป่วยตัวสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 การหยุดยั้งการระบาดจนครบกำหนดระยะเวลาปลอดโรคครั้งนี้ เป็นผลมาจากการรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีกเข้าสู่ระบบแยกส่วนการเลี้ยง (Compartment) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการควบคุมและป้องกันโรคไข้หวัดนกที่มุ่งเน้นมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) เป็นหลัก และทางกรมปศุสัตว์ได้จัดทำหนังสือถึงองค์กรสุขภาพสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และสหภาพยุโรป เพื่อประกาศรับรองว่าประเทศไทยปลอดจากปัญหาโรคไข้หวัดนกอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะต้องใช้ระยะเวลาดำเนินงานไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน อย่างไรก็ตามหากเป็นไปได้ประเทศไทยจะสามารถเริ่มต้นส่งออกเนื้อไก่สดสู่ตลาดโลกได้อีกครั้งภายในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้

          นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ กล่าวถึงภาวะราคาลูกเจี๊ยบว่าจากการที่ราคาได้ขยับสูงขึ้นถึงตัวละ 18 บาท ซึ่งขณะนี้ราคายังไม่ลดลง สาเหตุเพราะว่าอัตราการฟักลูกเจี๊ยบลดลง โดยมีปัจจัยมาจาก เช่น ภาวะอากาศแปรปรวน คุณภาพอาหารสัตว์ลดลงเพราะวัตถุดิบคือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สต๊อกรัฐบาลคุณภาพต่ำ แม่พันธุ์ที่มีอยู่ควรจะฟักลูกเจี๊ยบออกมาได้สัปดาห์ละ 21 ล้านตัว แต่ปัจจุบันมีเพียง 17-19 ล้านตัว ขณะเดียวกันแม้จะฟักลูกเจี๊ยบออกมาแล้ว แต่จากอัตรารอดของไก่เนื้อต่ำ ทำให้ราคาไก่หน้าฟาร์มค่อนข้างสูง อยู่ที่กก.ละ 45-48 บาท แม้ว่าราคาลูกเจี๊ยบจะต้นทุนสูง แต่ราคาไก่เนื้อที่ขายได้ก็สูงทำให้ผู้เลี้ยงยังพอมีกำไร กล่าวคือต้นทุนโดยรวมอยู่ที่กก.ละ 36-38 บาท อย่างไรก็ดีหากช่วงปิดเทอมการบริโภคไก่ของเด็กนักเรียนลดลงไป อัตราฟักลูกเจี๊ยบดีขึ้น อัตราการเลี้ยงไก่เนื้อดีขึ้น ซัพพลายเพิ่มขึ้นอาจมีผลให้ราคาไก่หน้าฟาร์มลดลง  ด้านบริษัทในเครือ           ฉวีวรรณกรุ๊ป กล่าวถึงสถานการณ์ส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ว่าโดยภาพรวมยังดี โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปตลาดส่งออกเนื้อไก่หลักของไทย แม้จะมีปัญหาเศรษฐกิจค่าเงินสกุลยูโรอ่อนตัว ผู้นำเข้าต้องซื้อสินค้าจากไทยในราคาที่แพงขึ้น แต่เดือนมีนาคมเริ่มมีคำสั่งซื้อทยอยเข้ามาใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา โดยผลิตภัณฑ์ไก่ไทยปีนี้ราคาจะสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาตันละ 200-300 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยราคาไก่แปรรูปประเภทมูลค่าเพิ่ม เฉลี่ยตั้งแต่  ตันละ 7,000-9,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนไก่แปรรูปขั้นต้นเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 2,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นราคาที่สูงตามต้นทุนวัตถุดิบเพราะลูกเจี๊ยบมีราคาแพง อีกทั้งอาหารสัตว์แม้จะลดลงจากปีที่ผ่านมาแต่ยังถือว่าสูงอยู่

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 42.70 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 43.47 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.77 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 44.52 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 41.73 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 42.34บาท และภาคใต้ไม่มีรายงาน ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ18.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 44.50 บาท และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 57.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ภาวะตลาดไข่ไก่ ในสัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสถานศึกษาต่างๆ ได้ทยอยปิดภาคเรียนแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากช่วงก่อนหน้านี้มีการปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงออกมากเพราะราคาดีในช่วงเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทำให้ผลผลิตไข่ไก่ลดลง แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือปรับตัวสูงขึ้น

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 268 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 264 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.38 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 266บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 258 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 268 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 274 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 26.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 275 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 285 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 3.51

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 282 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 285 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 3.51 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 256 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 293 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 271 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 337 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 340 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 42.51 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 43.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.12 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 47.08 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 36.98 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 40.67 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 52.82 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 35.26 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 35.33 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.20 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 52.50 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 32.11 บาท ภาคกลาง 32.69 บาท ภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 1 - 7 มีนาคม 2553--

-พห-

แท็ก เกษตรกร   สุกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ