สศข. 8 บูรณาการร่วมฟื้นฟูข้าวหอมไชยาพัฒนาสายพันธุ์แท้

ข่าวทั่วไป Thursday March 11, 2010 15:36 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 ร่วมบูรณาการพัฒนาการผลผลิตข้าวหอมไชยา พร้อมผลักดัน 6 กลยุทธ์สู่เป้าหมาย เน้นการฟื้นฟูพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมไชยา และการขยายพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร

นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 (สศข.8) จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมสัมมนาชี้แจงการดำเนินงาน “โครงการนำร่องพื้นที่เหมาะสมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาการผลิตข้าวหอมไชยา จ.สุราษฎร์ธานี” ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอไชยา จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงการดำเนินโครงการฯ อย่างบูรณาการ ร่วมกันระหว่างหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตรงเป้าหมายที่วางไว้

โดยในการประชุมครั้งนี้ มีการจัดเตรียมข้อมูล การกำหนดทิศทางการดำเนินงานอย่างบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ ต้องการฟื้นฟูพันธุ์ข้าวหอมไชยาแท้ให้เร็วที่สุด โดยการเพาะปลูกและคัดเลือกพันธุ์ในพื้นที่เป้าหมายของเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการใน 4 ตำบลหลัก ของอำเภอไชยา ได้แก่ ต. เลม็ด ต. ทุ่ง ต.ป่าเว และ ต.โมถ่าย จำนวน 24 ราย ในพื้นที่ 100 ไร่ ของปีแรก และเมื่อได้พันธุ์แท้ก็จะขยายพื้นที่ต่อไป รวมทั้งแผนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิน การวิเคราะห์ดิน แหล่งน้ำ การสร้างอาชีพเสริมแก่ เกษตรกร ทั้งการเลี้ยงเป็ดไข่/เลี้ยงปลา ในนาข้าว การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ของชุมชน การถ่ายทอดความรู้ในเรื่องการปลูกข้าวตลอดวัฏจักร การทำบัญชีครัวเรือน และมุ่งไปสู่การประชาสัมพันธ์ การแปรรูป การเพิ่มมูลค่า ในการจำหน่ายข้าวหอมไชยา พร้อมทั้ง ปูพื้นฐานการขอรับการรับรองสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของข้าวหอมไชยาในอนาคต

ทั้งนี้ “โครงการนำร่องพื้นที่เหมาะสมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาการผลิตข้าวหอมไชยา จ.สุราษฎร์ธานี”นับเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุน และผลักดันจากหลายฝ่ายด้วยกัน ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าวสอดรับกับนโยบายของจังหวัด ที่ต้องการพลิกฟื้นนาร้างและรณรงค์ปลูกข้าวเพื่อการบริโภคและลดการใช้จ่ายในครัวเรือน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 530,000 บาท เพื่ออนุรักษ์ และฟื้นฟูพันธุ์ข้าวหอมไชยา ร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มการผลิตข้าวหอมไชยา โดยเชื่อมโยงทั้งด้านการผลิต การแปรรูป เพิ่มมูลค่าและการตลาด และเพื่อจัดทำแผนงาน/โครงการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เชื่อมโยงและสอดคล้องในทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน โดยการดำเนินงานจะแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะปีแรก (ปี 2553) เน้นการฟื้นฟูและพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมไชยา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้ง การส่งเสริมการผลิตและพัฒนาเกษตรกร ส่วนระยะที่ 2 (ปี 2554-2555) เน้นการขยายพื้นที่ การสร้างความมั่นคง ทางอาหาร รวมทั้ง การตลาด การแปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยวัดความสำเร็จ 2 ระยะเช่นกัน คือ ระยะที่ 1 (1 ปี แรก) เป็นอนุรักษ์ และฟื้นฟูเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมไชยา โดยการคัดเลือกพันธุ์แท้ จำนวน 1,500-2,000 ก.ก. (หรือ 100 ไร่) ระยะที่ 2 ผลผลิตข้าวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 328 กก./ไร่ เพิ่มเป็น 400 กก./ไร่ โดยที่แผนงาน/โครงการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยร่วมบูรณาการกันอย่างเชื่อมโยงและครบวงจร อันส่งผลให้เกษตรกรในโครงการอยู่ดีกินดี มีความมั่นคงทางอาหาร และที่สำคัญราคาผลผลิตข้าวของเกษตรกรในโครงการเพิ่มขึ้นจาก 20 บาท/กก. เป็น 40 บาท/กก. หรือ 24,000 บาท/เกวียน (หรือเกษตรกรในโครงการมีรายได้จากการผลิตข้าวหอมไชยา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 50) ทั้งนี้ มีแนวทางการดำเนินงาน ประกอบด้วย 6 กลยุทธ์ ดังนี้ กลยุทธ์ที่ 1 การฟื้นฟูและพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมไชยา กลยุทธ์ที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กลยุทธ์ที่ 3 การส่งเสริมการผลิตและพัฒนาเกษตรกร กลยุทธ์ที่ 4 การสร้างความมั่นคงทางอาหาร กลยุทธ์ที่ 5 การตลาด การแปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่ม และ กลยุทธ์ที่ 6 การบริหารจัดการ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ