กระทรวงเกษตรฯ รับลูกเอเปคตระหนักถึงความมั่นคงอาหารเตรียมพร้อมเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหาร เป็นครั้งแรก

ข่าวทั่วไป Wednesday March 17, 2010 13:21 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยเอเปคเล็งเห็นความสำคัญของความมั่นคงด้านอาหาร เตรียมจัดประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหารเป็นครั้งแรก คาดจะทำให้เขตเศรษฐกิจเอเปคมีกรอบการดำเนินงาน/นโยบายที่ชัดเจนในเรื่องความมั่นคงด้านอาหารที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน อันจะส่งผลดีต่อการค้าและการลงทุนด้านเกษตรและอาหารทั้งภายในเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค และระหว่างเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคกับประเทศที่เป็น Non-APEC ในอนาคต

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่า เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2532 ประกอบด้วย 21 เขตเศรษฐกิจ คือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน จีน(ฮ่องกง) อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีน(ไทเป) ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม

จากวิกฤตการณ์เรื่องความมั่นคงด้านอาหารที่เคยเกิดขึ้นในหลายภูมิภาค ส่งผลให้เอเปคตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าวว จึงมีกำหนดจะจัดให้มีการประชุมรัฐมนตรีว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหารเป็นครั้งแรก ในระหว่างวันที่ 16-17 ตุลาคม 2553 ณ เมืองนิอิกาตะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญลำดับที่ 2 ของญี่ปุ่น (รองจาก ฮอกไกโด) โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในฐานะหน่วยงานหลักในการประสานงานภาคเกษตรของประเทศไทยกับเอเปค อยู่ระหว่างการเตรียมการจัดทำท่าทีไทยสำหรับประกอบการจัดทำปฏิญญาและแผนปฏิบัติการในเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งรัฐมนตรีว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหารของทุกเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค ในส่วนของประเทศไทยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเข้าร่วมแถลงการณ์ในโอกาสดังกล่าวด้วย

สำหรับการเตรียมการเพื่อยกร่างปฏิญญาและแผนปฏิบัติการเรื่องความมั่นคงด้านอาหารนั้น กำหนดดำเนินการในระหว่างการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค (Senior Officials Meeting: SOM)-Friends of the Chair (FotC) ซึ่งจะจัดขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่

1. การประชุม SOM-FotC ครั้งที่ 1/2553 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเข้าร่วมประชุมด้วย ที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นที่จะเสนอให้รัฐมนตรีหารือร่วมกัน อย่างไรก็ดี หลายเขตเศรษฐกิจรวมถึงไทยได้เสนอประเด็นต่อที่ประชุม โดยยังไม่สามารถสรุปประเด็นเป็นร่างเอกสารที่ยอมรับร่วมกันได้ ทั้งนี้ ประธาน (ญี่ปุ่น) จะได้รวบรวมประเด็นทั้งหมดแล้วจัดส่งให้ทุกเขตเศรษฐกิจพิจารณาล่วงหน้าก่อนนำร่างเอกสารมาหารือร่วมกันในการประชุมคราวต่อไป

2. การประชุม SOM-FotC ครั้งที่ 2/2553 ประมาณเดือนพฤษภาคม/มิถุนายน

3. การประชุม SOM-FotC ครั้งที่ 3/2553 ในเดือนกันยายน และ

4. การประชุม SOM เรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ในวันที่ 15 ตุลาคม 2553

ทั้งนี้ คาดว่าผลจากการประชุมรัฐมนตรีดังกล่าวจะทำให้เขตเศรษฐกิจเอเปคมีกรอบการดำเนินงาน/นโยบายที่ชัดเจนในเรื่องความมั่นคงด้านอาหารที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน อันจะส่งผลดีต่อการค้าและการลงทุนด้านเกษตรและอาหารทั้งภายในเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค และระหว่างเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคกับประเทศที่เป็น Non-APEC ในอนาคต นายอภิชาต กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ