1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
1.1.1 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ1)
- ระยะเวลาการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ข้าวเปลือกนาปี เดือนกรกฎาคม — 31 ตุลาคม 2552 สำหรับภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคใต้ขยายเวลาถึง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553
- เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนการปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตร และทำประชาคมรับรองการผลิต
- เกษตรกรที่ได้ใบรับรองการผลิตหลังจากทำประชาคมแล้ว สามารถนำไปทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม — 30 พฤศจิกายน 2552 ยกเว้นภาคใต้ ถึงเดือน 31 มีนาคม 2553 )
- การจัดทำสัญญาประกันรายได้ โดย ธ.ก.ส. สาขาที่เป็นภูมิลำเนา/ต้นที่ปลูก ตั้งแต่เดือน สิงหาคม - 15 ธันวาคม 2552 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2552 - 15 เมษายน 2553
- ระยะเวลาใช้สิทธิ์ประกันรายได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552- 28 กุมภาพันธ์ 2553 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ — 31 พฤษภาคม 2553
- ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
- ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,300 บาท ไม่เกิน 14 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกหอมจังหวัด ตันละ 14,300 บาท ไม่เกิน 16 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกเจ้าตันละ ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,500 บาท ไม่เกิน 16 ตัน / ครัวเรือน
- ระยะเวลาโครงการ เดือนกรกฎาคม 2552 — กรกฎาคม 2553
การเกษตร
1.1.2 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ2)
- ระยะเวลาประชาสัมพันธ์ 1 ธันวาคม 2552 — 31 กรกฎาคม 2553
- ระยะเวลาการขึ้นทะเบียนเกษตรกร 1 มกราคม — 30 เมษายน 2553 (ภาคใต้ 1 เมษายน — 31 กรกฎาคม 2553
- ระยะเวลาประชาคม 6 มกราคม - 15 พฤษภาคม 2553 (ภาคใต้ 6 เมษายน — 15 สิงหาคม 2553)
- ระยะเวลาออกหนังสือรับรอง 15 มกราคม — 20 พฤษภาคม 2553 (ภาคใต้ 15 เมษายน — 20 สิงหาคม 2553)
- การจัดทำสัญญาประกันรายได้ 20 มกราคม — 30 พฤษภาคม 2553 (ภาคใต้ 20 เมษายน — 30 สิงหาคม 2553)
- การใช้สิทธิ์ประกันรายได้ 21 มกราคม — 31 กรกฎาคม 2553 (ภาคใต้ 21 เมษายน — 31 ตุลาคม 2553)
- ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
- ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน
- ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน
- ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,500 บาท ไม่เกิน 16 ตัน / ครัวเรือน
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้ ราคาข้าวปรับตัวลดลงในทุกตลาดเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรัง ปี 2553 ได้เริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับผู้ส่งออกส่วนใหญ่มีข้าวในสต๊อคปริมาณที่เพียงพอบ้างแล้วจึงชะลอการรับซื้อ ทำให้ปริมาณการซื้อขายมีน้อยราย จึงส่งผลให้ราคาซื้อขายทั่วไปอ่อนตัวลดลง
การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 — 18 กุมภาพันธ์ 2553 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 1,147,872 ตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 1,064,224 ตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.86(ที่มา: กรมการค้าภายใน)
1.2 ราคา
ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,086 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,231 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.02
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,660 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,739 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.91
ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,676 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,775 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.92
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี ความชื้น 14-15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,660 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,739 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.91
ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,525 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,750 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.53
ราคาส่งออก เอฟ.โอ. บี
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,005 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ (32,598 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,021 ดอลลาร์สหรัฐ (33,254 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.57 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 656 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 749 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,294 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 813 ดอลลาร์สหรัฐ (26,479 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 7.87 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 2,185 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 497 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,121 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 507 ดอลลาร์สหรัฐ (16,513 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.97 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 392 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,596 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 459 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,949 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.96 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 353 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 551 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,872 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 566 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,434บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.65 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 562 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.4359 บาท
2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ
1. บังคลาเทศนำเข้าข้าว 25,000 ตัน จากพม่า
บังคลาเทศกำลังจะนำเข้าข้าว 25,000 ตันจากพม่า เพื่อให้เพียงพอตามความต้องการที่กำลังเติบโตขึ้น โดยมีอัตราการประมูลต่ำอยู่ในระดับ 395 เหรียญสหรัฐ/ตัน (12,812.18 บาท/ตัน) ทั้งนี้ รัฐบาลต้องการสร้างความมั่นใจในปริมาณอุปทานข้าวว่าจะเพียงพอในตลาด นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังพิจารณาการนำเข้าข้าว 5 ล้านตันในเร็วๆ นี้
อนึ่ง เป้าหมายปริมาณการผลิตธัญพืชอาหารในระหว่างปีงบประมาณ 2552-53 เบื้องต้นอยู่ที่ 35.051 ล้านตัน โดยมีปริมาณผลผลิตจริงอยู่ที่ 32.166 ล้านตัน การนำเข้าธัญพืชอาหารระหว่างเดือนกรกฎาคม 2552 — มกราคม 2553 อยู่ในระดับสูงที่ 2.135 ล้านตัน เปรียบเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 1.459 ล้านตัน แต่กระนั้น สต็อกของธัญพืชอาหารอยู่ในระดับต่ำที่ 1.051 ล้านตันเมื่อสิ้นเดือนมกราคม ในขณะที่ปริมาณสต็อกในช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1.308 ล้านตัน
2.ข้าว GM กำลังจะเข้าตีตลาดอันใกล้
มีการคาดการณ์ว่า ข้าวตัดแต่งพันธุกรรม (GM) กำลังจะเข้ามาในตลาดใน 3-5 ปี ซึ่งจีนเป็นประเทศที่มีความพร้อมด้านเทคนิค และมีความตั้งใจที่จะสร้างเป็นจุดแข็งในการแข่งขัน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยของจีนได้ร่วมกับศูนย์กลางการป้องกันและควบคุมโรคได้ทำการพิสูจน์แล้วว่าข้าว GM มีความปลอดภัยเหมือนข้าวที่ปลูกโดยวิธีดั้งเดิม นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาวิเคราะห์อาหาร GM ในประเทศจีนตั้งแต่ปี 2542 โดยการนำข้าวมากกว่า 10 ตันไปทดลองกับสัตว์อีกด้วย แต่กระนั้น ยังมีผู้เชี่ยวชาญและนักการเมืองบางคนยังมีความกังวลว่าพืชตัดแต่งพันธุกรรมดังกล่าวอาจส่งผลกระทบด้านอื่นๆ ที่ยังไม่ปรากฏแน่ชัดได้อีก อาทิ สภาพความเป็นพิษจากยีนส์ ซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของยีนส์พันธุกรรม และอาจเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ได้ โดยยังไม่มีใครทราบผลกระทบที่แน่นอนได้อย่างชัดเจนไปอีกหลาย 10 ปี จึงได้มีการเรียกร้องให้มีกฎหมายควบคุมการค้า การนำเข้า และการขายธัญพืช GM และวัตถุดิบที่มีการตัดแต่งพันธุกรรม รวมทั้งควรมีความรอบคอบ รัดกุมในการตรวจสอบพืช GM ทางการการค้า
ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ กระทรวงเกษตรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนจะทำการมอบใบรับรองข้าว GM 2 ชนิด และ ข้าวโพด GM 1 ชนิด ที่มีการผลิตในประเทศเป็นครั้งแรก อนึ่ง การพิสูจน์ผลกระทบจากพืช GM แม้ว่าจะช่วยต่อต้านวัชพืช สิ่งรบกวน หรือแมลงต่างๆ รวมทั้งช่วยเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนทางการเกษตรได้มากกว่าการเพาะปลูกแบบระบบดั้งเดิม แต่ก็ยังคงมีประเด็นที่ยังเป็นที่เคลือบแคลงและมิอาจพิสูจน์ได้ในระยะเวลาอีก 2 รุ่นคน จึงจะมีความชัดเจนแน่นอนว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยหรือไม่ ดังนั้น ในขณะที่ยังไม่มีความแน่นอนและปราศจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในขณะนี้ พืช GM จึงยังคงไม่เหมาะสมที่จะนำเข้ามาสู่ตลาด ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยสิ่งที่ควรต้องทำในขณะนี้ คือการเร่งทำการวิจัยในพืช GM ต่อไป
3.ปากีสถานส่งออกข้าวเพิ่มเป็น 4 เท่า ในปีนี้
ในปี 2553 คาดการณ์ว่า ปากีสถานจะมีปริมาณการส่งออกข้าวไปมาเลเซียเพิ่มเป็น 4 เท่า โดยกลุ่มบริษัทในการจัดหาและแปรรูปข้าว รวมถึงการนำเข้า การเก็บในคลังสินค้า การจัดช่องทางการจำหน่าย และการตลาด ตั้งเป้าที่จะแบ่งฐานการนำเข้าข้าวเพื่อลดการพึ่งพิงสินค้าจากไทยและเวียดนามเป็นหลัก ซึ่งจากเดิมนั้น มาเลเซียมีการนำเข้าข้าวจากไทย 45.9% และเวียดนาม 34.5%
ปัจจุบัน ปากีสถานเป็นตลาดการนำเข้าข้าวอันดับ 3 ของมาเลเซีย ซึ่งมีสัดส่วนอยู่เพียง 4.1% ของการนำเข้าข้าวทั้งหมด โดยในปี 2553 นี้ มีการวางเป้าหมายที่จะเพิ่มการนำเข้าจากปากีสถานให้เพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าจากของเดิม โดยได้เข้าทำสัญญากับหลายบริษัทในปากีสถาน ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว แนวโน้มการนำเข้าข้าวจากปากีสถานจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 8 - 14 มีนาคม 2553--