สศก. เดินหน้าเตรียมจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11

ข่าวทั่วไป Thursday March 25, 2010 13:11 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยได้เตรียมการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 11 ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้มีส่วนได้-เสีย สภาวะเศรษฐกิจและสังคม สอดรับกับแผนพัฒนาฯ ของ สศช. โดยเน้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรที่ต้องพัฒนาและต้องแก้ไข เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการเกษตรในช่วง 5 ปี ข้างหน้า ให้สอดคล้องและสนับสนุนการพัฒนาในภาพรวม

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน พ.ศ. 2554 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลัก อยู่ในระหว่างเตรียมการยกร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักในการดูแลภาคการเกษตร และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งมีหน้าที่วางแผนพัฒนาการเกษตรตาม พรบ.เศรษฐกิจการเกษตร จึงได้เตรียมจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 11 ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้มีส่วนได้-เสีย สภาวะเศรษฐกิจและสังคม และจัดทำคู่ขนาน และสอดรับกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ของ สศช. โดยมีการดำเนินการ ดังนี้

1. ทบทวนผลการพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 โดยพิจารณาถึงการเจริญเติบโตของภาคเกษตรความอยู่ดีมีสุขของเกษตรกร ทรัพยากรการเกษตรที่เปลี่ยนแปลง

2. พิจารณาประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร ซึ่ง สศช. ได้กำหนดเป็นกรอบทิศทางการพัฒนา ในช่วงแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 11รวมทั้งประเด็นสำคัญที่ต้องพัฒนาและต้องแก้ไขปัญหาในภาคเกษตร เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการเกษตรในช่วง 5ปี ข้างหน้า ให้สอดคล้องและสนับสนุนการพัฒนาในภาพรวม ซึ่งประเด็นต่าง ๆ ประกอบด้วย เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจการเกษตรสีเขียว (Green Agricultural Economy) การพัฒนาการเกษตรในลักษณะ Cluster ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกไร้พรมแดน และสัญญาประชาคมใหม่ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร และเศรษฐกิจพอเพียง

3. พิจารณาปัจจัยและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งมีผลกระทบถึงการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 11

4. ระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ เกษตรกร ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐในระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ฯ ปี 2550 มาตรา 57 ซึ่งกำหนดให้ มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ฯ ทำให้การว่างแผนพัฒนาด้านต่าง ๆ มีโอกาสเข้าถึงปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของผู้มีส่วนได้เสียเพิ่มขึ้น นายอภิชาต กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ