สศก. ชูภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาสแรก ปี 53

ข่าวทั่วไป Thursday March 25, 2010 13:14 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แถลงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2553 โดยวิเคราะห์ จากปัจจัยต่างๆ พบ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตรเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันใน ปี 52

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2553 พบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตรมีอัตรา การเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ปัจจัยบวก พบว่า ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัว โดยได้มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2553 จะ ขยายตัว ร้อยละ 3.1 อุตสาหกรรมการผลิตในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น อินเดีย และจีน มีการขยายตัวอย่าง รวดเร็ว ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการบริโภคและการผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ ขยายตัว เพิ่มขึ้นตาม ไปด้วย สำหรับเศรษฐกิจของไทย คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 - 4.0 โดยมีการส่งออกและการ ลงทุนของ ภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาลในสินค้าเกษตรที่ สำคัญ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะช่วยยกระดับราคาสินค้าอยู่ในเกณฑ์ที่จูงใจให้ เกษตรกร ขยายการผลิตเพิ่มขึ้น รวมถึงการดำเนินงานและมาตรการของภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการผลิตทางการเกษตรอย่าง ต่อเนื่อง ทั้งจากงบตามแผนงานปกติและแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งเน้นการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตร การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร การปรับปรุงและกระจายพันธุ์ต่าง ๆ ทำให้การผลิต ทางการเกษตร ขยายตัวดีขึ้น

ด้านปัจจัยเสี่ยง มีปัญหาภัยแล้งซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่และมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น รวมถึงการ ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่นาข้าว และเพลี้ยแป้งในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ปัญหาปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญที่มีน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการปลูกพืชสำคัญ เช่น ข้าวนาปรัง และไม้ผล เป็นต้น โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการเกิดภาวะโลกร้อน ในส่วนราคาน้ำมันยังคงมีความผันผวน จากการเก็ง กำไร โดยอยู่ในช่วง 75 - 85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มีนาคม 2552 โดยมีค่าเท่ากับ 35.78 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และแข็งค่าขึ้นเป็น 33.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 อาจส่งผลต่อภาวะการส่งออกสินค้าได้

สำหรับรายละเอียดในแต่ละสาขาของภาคเกษตร พบว่า สาขาพืช ผลผลิตพืชสำคัญ โดยเฉพาะข้าวลดลง เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูการเพาะปลูกข้าวนาปีและต้นฤดูเพาะปลูกข้าวนาปรัง ประกอบกับปัญหาภัยแล้ง การ ระบาดของเพลี้ยกระโดด สีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิก ในพื้นที่ปลูกข้าวในแถบภาคกลางและภาคเหนือ ตอนล่าง สำหรับปาล์มน้ำมันมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนเพียงพอในระยะที่ผ่านมา ขณะที่การผลิต อ้อยโรงงานเพิ่มขึ้นจากแรงจูงใจทางด้านราคา ปริมาณผลผลิตยางพาราใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2552 แม้ว่าเกษตรกรในภาคใต้บางส่วนได้มีการโค่นต้นยางแก่ เพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพันธุ์ดี แต่ต้นยางในภาค ตะวันออกเฉียงเหนือยังอยู่ในช่วงที่ให้ผลผลิตสูง ส่วนผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลังลดลง เนื่องจาก เกษตรกรได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนไปปลูกอ้อยโรงงานซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า สำหรับการส่งออกสินค้าพืชและผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มดีขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงเดือน ม.ค. 2553 สินค้าที่ส่งออกได้มาก ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และ น้ำตาลทราย ด้านราคาของพืชสำคัญหลายชนิดปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก อาทิ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และ ยางพารา ขณะที่ราคาข้าวปรับตัวลดลง จึงคาดว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 สาขาพืชมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.5

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 เนื่องจากปริมาณ การผลิตสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะสุกรมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามราคาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วน ไก่เนื้อ การผลิตลดลง เพราะความต้องการสินค้าจากตลาดต่างประเทศเริ่มชะลอตัวตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเนื่องจากผู้ส่งออกไก่เนื้อของไทย ได้ส่งออกเต็มโควตาที่ได้รับจากสหภาพยุโรปแล้ว อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้ดำเนินการเจรจาขอโควตาส่งออก สินค้าเพื่อชดเชยการขึ้นอัตราภาษีสินค้าสัตว์ปีกของไทยจากสหภาพยุโรป ซึ่งหากประสบผลสำเร็จ การส่งออกอาจ ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก

สาขาประมง จากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าขยายตัว การส่งออก สินค้าประมง เช่น ปลาทะเล กุ้งและผลิตภัณฑ์ มีแนวโน้มที่จะส่งออกได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การผลิตและราคา ภายในประเทศขยายตัวตามไปด้วย คาดว่าสาขาประมงจะขยายตัวร้อยละ 3.2

สาขาป่าไม้ มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 1.1เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกษตรกร ชาวสวนยางพาราในภาคใต้บางส่วนได้มีการตัดโค่นต้นยางแก่ เพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพันธุ์ดี ทำให้ไม้ยางพารา เพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตไม้ยูคาลิปตัสก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ การส่งออกไม้ แปรรูปและผลิตภัณฑ์ ถ่านไม้ และผลิตภัณฑ์จากป่ามีแนวโน้มดีขึ้น

สาขาบริการทางการเกษตร มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4เนื่องจากการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการผลิตในสาขาพืชและปศุสัตว์ ทำให้การจ้างบริการทางการเกษตร เช่น บริการไถ การนวด การป้องกันและกำจัดแมลง ขยายตัวตามไปด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ