สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สนองนโยบายรัฐเร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนและสำรวจผลผลิตต่อไร่ของเกษตรกรที่จะเข้า ร่วมประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552 / 53 รอบที่ 2 เพื่อให้การช่วยเหลือชาวนาเป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง รวมทั้ง ลดปัญหาที่เกิดขึ้น เผยยกพลฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่ทั่วประเทศตลอดเดือนมีนาคมนี้ มั่นใจได้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงตามความจริง
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้เกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้รับความเดือดร้อนในหลายพื้นที่ รัฐจึงช่วยเหลือโดย จัดทำโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตรที่มีราคาตกต่ำ เช่น การรับจำนำข้าวเปลือก เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอและมีเงินลง ทุนในฤดูกาลเพาะปลูกต่อไป แต่ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาการช่วยเหลือของภาครัฐโดยวิธีดังกล่าวมีปัญหาเรื่อง ปริมาณผลผลิต ข้าวที่รัฐเข้าแทรกแซงตลาดข้อมูลมักไม่ตรงตามข้อเท็จจริงเนื่องจากมีการสวมสิทธิ์เกิดขึ้น ทำให้รัฐไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกร ได้ทั่วถึงและตามวัตถุประสงค์ เมื่อปี 2552 รัฐบาลจึงปรับเปลี่ยนและหาแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งระบบจากโครงการรับจำนำมา เป็นโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 1 เพื่อดำเนินการช่วยเหลือชาวนาได้อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าวประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ดังนั้นทางรัฐบาลจึงต้องดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 ต่อจากโครงการรอบที่ 1 แต่ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของโครงการฯ คือ เกษตรกรหลายพื้นที่ร้องเรียนเรื่อง ข้อมูลผลผลิตต่อไร่ของแต่ละชนิดและพันธุ์ข้าวที่ใช้อ้างอิงในโครงการฯ อยู่ในเกณฑ์ต่ำ ทำให้เกษตรกรไม่ได้รับผลประโยชน์เท่าที่ควร
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้จึงขออนุมัติงบกลางเพื่อนำมาใช้ในการสำรวจเพิ่มขึ้นของผลผลิต ต่อไร่ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 โดยมอบหมายสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รับผิดชอบใน การจัดทำข้อมูลผลผลิตต่อไร่แยกตามชนิดและพันธุ์ข้าวของแต่ละจังหวัด ให้มีความถูกต้องใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อใช้ เป็นหลักฐานและข้อมูลในการทำสัญญาระหว่าง ธ.ก.ส. กับเกษตรกร ตลอดจนนำไปวางแผนเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมและ ช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อราคาข้าวเปลือกตกต่ำต่อไป โดยกำหนดพื้นที่ 69 จังหวัด และมีการสำรวจ 2 วิธี คือ 1) การสำรวจผลผลิตด้วย วิธีตัวอย่าง (List Frame Survey) คือ การสอบถามเกษตรกรตัวอย่าง รวมทั้งสิ้นจำนวน 4,000 หมู่บ้าน หรือ 40,000 ครัวเรือน ตัวอย่าง และ 2) การสำรวจผลผลิตต่อไร่โดยวิธีตั้งแปลงเก็บเกี่ยวผลผลิต (Crop Cutting Survey) คือ การไปตั้งแปลงเก็บเกี่ยวข้าวใน แปลงนาของเกษตรกรตัวอย่างเพื่อนำมาทดสอบผลผลิตต่อไร่โดยการวัด นับ และชั่งน้ำหนักผลผลิตข้าว รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,500 หมู่บ้าน หรือ 4,500 ครัวเรือนตัวอย่าง โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องสนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจภาคสนามในครั้งนี้ได้แก่ เจ้าหน้าที่เกษตรตำบลของกรมส่งเสริมการเกษตร เกษตรกรศูนย์ข้าวชุมชนของกรมการข้าว และอาสาสมัครเศรษฐกิจการเกษตร ท้องถิ่น (ศกท.) ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รวมทั้งสิ้นประมาณ 700 คน โดยเริ่มทำการสำรวจภาคสนามตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม — 20 เมษายน 2553 และรายงานผลการสำรวจให้แก่ผู้บริหารระดับสูงในวันที่ 30 เมษายน 2553 ต่อไป
สำหรับศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่รับผิดชอบโครงการฯ โดยตรง ได้จัดการ ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการสำรวจดังกล่าว รวมทั้งหมด 6 ภาค ระหว่างวันที่ 4 — 21 มีนาคม 2553 ดังนี้ วันที่ 4-6 มีนาคม 2553 ภาคกลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 7-9 มีนาคม 2553 ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง และภาคตะวันตก จังหวัดราชบุรี วันที่ 10-13 มีนาคม 2553 ภาคเหนือ จังหวัดพิษณุโลก วันที่ 13-16 มีนาคม 2553 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัด ขอนแก่น และวันที่ 18-21 มีนาคม 2553 ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งการฝึกอบรมครั้งนี้จะทำให้ได้ข้อมูลตรงตาม ข้อเท็จจริงมากขึ้น นายอภิชาต กล่าว
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--